การเดินทางของประวัติศาสตร์

การเดินทางของประวัติศาสตร์

7 ก.ค. 68 915

“ผู้นำต้องสร้างประวัติศาสตร์ กระตุ้น ปลุกเร้าพลังแห่งความฝัน และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นั้น” ความตอนหนึ่งที่ข้าพเจ้ากล่าวในวงสัมมนา “เสริมพลังผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ภายใต้โครงการพัฒนาผู้นำ มหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 20-22 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา

หลายคนสีหน้าระคน สงสัย ?

ประวัติศาสตร์ ในการรับรู้ เข้าใจกันโดยทั่วไป คืออดีตที่เกิดขึ้นและจบลงไปแล้ว ประวัติศาสตร์จึงเป็นเพียงสิ่งที่ถูกเขียน/ สร้างขึ้นจากอดีตเพื่อเป้าหมายและวัตถุประสงค์บางอย่างสำหรับปัจจุบันและอนาคต

แม้อาจมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่แท้ที่จริงแล้ว “การเดินทางของประวัติศาสตร์” มีทั้งจุดสิ้นสุด การรอคอย การเป็นรอยต่อ จุดตัด ชุดความต่อเนื่องที่เชื่อมโยงจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการ “สร้างใหม่” ของประวัติศาสตร์จากอุดมคติ แรงบันดาลใจ จินตนาการ ความฝัน ความต้องการ และแรงปรารถนาของผู้คน กลุ่มชน องค์กร หรือสังคมนั้นๆ ได้เสมอๆ

การ “ตั้งคำถาม ตั้งโจทย์ใหม่” ผ่านกระบวนแสวงหาความรู้-การอ่าน เขียน สังเกต ศึกษา ค้นคว้า การวิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้ ชุดความหมาย ประสบการณ์ ยกระดับความคิด และบริบทที่เชื่อมโยง อันนำไปสู่การหาคำตอบใหม่ๆ ที่เป็นไปได้ คือ รากฐานและจุดเริ่มต้นของการสร้างประวัติศาสตร์

ต่อเนื่องด้วยการ “วาดเส้นขอบฟ้าแห่งอนาคต” อันเป็นเป้าหมายที่จะไปให้ถึง และธงกำกับทิศทางการก้าวข้ามและข้ามผ่านจากปัจจุบันสู่อนาคตกาล

จากนั้นคือการแปลงทั้งหมดไปสู่การปฏิบัติการที่เป็นจริง-จริงจัง

จากจุดปัจจุบันที่ “ยืน” เส้นขอบฟ้าอาจดูใกล้-ไกล

เมื่อเริ่มต้น “ย่าง” เส้นขอบฟ้ามักไกล-ถอยห่างออกไป

อย่าละสายตาจากเส้นขอบฟ้า และอย่าลังเลที่ก้าวออกไป นักปฏิบัติการทางสังคมเชิงอุดมคติท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้เป็นพลังปลุกปลอบ-บันดาลใจ

ทุกการเปลี่ยนแปลงยากเสมอ…ไม่มีอะไรง่าย แต่ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” ข้าพเจ้ากล่าวเป็นคำรบสอง

การคิดเปลี่ยน วาดเส้นขอบฟ้า และลงมือปฏิบัติการ จะนำไปสู่การสร้างใหม่ของประวัติศาสตร์

ผู้บริหาร “ต้องคิดให้ยาก [ในความหมายของการตั้งคำถามที่แหลมคม รอบคอบ รอบด้าน ด้วยกระบวนการข้างต้นเพื่อวาดขอบฟ้าความคิด]...ลงมือทำให้ง่าย หู ตา จมูกต้องไว ให้กล้าหาญ ไม่รอช้าที่จะลงมือสร้างมันขึ้นมา” ข้าพเจ้ากล่าวเติมเป็นคำรบสาม

ส่วนที่เหลือให้เป็นหน้าที่ของประวัติศาสตร์,

ประวัติศาสตร์-รอคอยการบันทึกฯ

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์

อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ