การกลายเป็น หรือ Becoming เป็นแนวคิดหนึ่งที่สำคัญในการบริหารในแง่มุมการสร้างวิสัยทัศน์ ทิศทาง ตำแหน่งแห่งที่ใหม่ กระทั่งกลายมาเป็น “ตัวตน” “อัตลักษณ์” และ “สำนึกใหม่” ในเชิงคุณค่าที่รับรู้และยอมรับร่วมกันในองค์กรและสังคม
แนวคิดนี้แม้จะมีฐานคิดว่าเส้นทางที่ทอดยาวมาจากอดีตย่อมส่งต่อ “การดำรงอยู่” ในปัจจุบัน และ “การกลายเป็นในอนาคต” แต่บนความเคลื่อนไหว-เปลี่ยนแปลงระหว่างพื้นที่ หรือพื้นที่ระหว่าง ที่เรียกว่า “In Between” ที่รอการเชื่อมต่อจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง อาจเป็นโอกาสที่สำคัญของฉกฉวย พลิกสร้างจุดเปลี่ยน จุดพลิกผันที่นำไปสู่การสร้าง “ทางใหม่ที่เป็นไปได้” อันส่งผลต่อการกลายเป็นที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
พูดอีกแบบหนึ่ง Becoming เป็นกระบวนการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง และพัฒนา ไปสู่สิ่งใหม่ขององค์กร จากการไม่ยอมจำนน/ จำยอมต่อบริบทแวดล้อม หรือไม่ยอมให้บริบทแวดล้อมมามีอิทธิพลเหนือ และ/ หรือพันธนาการอนาคต-กำหนดการดำรงอยู่ขององค์กรนั่นเอง
การยอมรับความจริงอย่างตรงไปตรงมา การไม่ยอมจำนน กล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน มองให้เห็นโอกาส การวิเคราะห์ สังเคราะห์ ยกระดับความคิด และการลงทำปฏิบัติการสะสมความสำเร็จให้เห็นเป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือการนำความสำเร็จนั้นมาตอกย้ำ ปลุกเร้าพลัง สร้างความมั่นใจภายใน จะปูทางไปสู่การกลายเป็นได้ไม่ยาก
“การเติบโตสู่สิ่งใหม่เป็นไปได้เสมอ”
“ผู้บริหารต้องคิดในสิ่งที่อยากให้เป็น และชวนผู้คนในองค์กรปฏิบัติการ-ลงมือทำจากสิ่งที่เป็น...ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าเชื่อมั่น” ข้าพเจ้าปลุกเร้าในคราวสัมมนาทบทวนแผนกลยุทธ์ เปิดคานงัดใหม่สู่การบริหารเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยจากรากสู่โลกเมื่อปีกลาย
บนรอยต่อของการกลายเป็น
- เราลงมือปฏิบัติการสร้างนวัตกรรรมการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการปฏิรูปหลักสูตรเชิงโครงสร้าง สร้างระบบและกลไกการเรียนรู้ด้วยแพลตฟอร์มที่หลากหลาย เช่น ปรับปรุงหลักสูตรเพื่อเติมเต็มเรื่องนวัตกรรมสังคม การประกอบการ ทักษะ สมรรถนะที่จำเป็น/ สำคัญในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต การสร้างโอกาสและทางชีวิต ของผู้เรียนด้วยหลักสูตรหลักสูตรพรีเมี่ยม หลักสูตรใหม่บนฐานการแตกหน่อ-ต่อยอดเพื่อสร้างการเติบโตอย่างสมดุล-ยั่งยืนในด้านสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ และการขยายสร้างพื้นที่ เวลาการเรียนรู้แบบไม่มีขีดจำกัดด้วย TSU For All
- การผสมผสานและการทำให้การเรียนรู้ในหลักสูตรกับนอกชั้นเรียน เป็นเนื้อเดียวกัน ผ่านกองทุนพัฒนานิสิตที่มุ่งตอบปรัชญาการศึกษา วิสัยทัศน์ โจทย์/ ความต้องการของผู้เรียน และอัตลักษณ์นิสิต “รับผิดชอบ รอบรู้ สู้งาน มีประสบการณ์เชิงปฏิบัติ” ในฐานะพลเมืองที่เข้าใจราก รู้จักโลก
- การสร้างนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม และพื้นที่นวัตกรรมสังคม ผ่านแผนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่เรียกว่า “TSU [New]Social Innovation Movement” ทำให้งานวิจัยและนวัตกรรมสามารถเชื่อมต่อกับชุมชนท้องถิ่น วิสาหกิจ ผู้ประกอบการภาคเอกชน/อุตสาหกรรม ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในแง่มุมการนำไปใช้ประโยชน์ การสร้างคุณค่า มูลค่า การบ่มเพาะ การประกอบการเริ่มต้น ฯลฯ
- การเข้าสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับโลก ที่ไม่ใด้หวังเพียงแค่การไต่บันใดดารา แต่คือสะพานเชื่อมโลกด้วยแนวคิดและการปฏิบัติการ “จากรากสู่โลก จากโลกสู่เรา” หรือ “Glocal University” เราจึงทอดสร้าง Social Innovation Ranking เป็นเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาวิชาการ วิจัย บริการวิชาการ และการรับใช้สังคม -การสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็น accelerate learning ด้วยระบบบริหารและการจัดการที่สนับสนุน กระตุ้นให้เกิดการเสริมแรง สานพลัง และเร่งรุดไปข้างหน้าด้วยการทำงานที่ท้าทาย (Talent) การสร้างขวัญ กำลังใจ และแรงจูงใจด้วยระบบค่าตอบแทน สวัสดิการที่ก้าวหน้า ยืดหยุ่น ที่ก้าวหน้าไม่น้อยหน้าหน่วยงานภาครัฐและเอกชน...
- ฯลฯ
บนรอยต่อของการกลายเป็น
TSU in Becoming -วันพรุ่งนี้เป็นของเรา อย่างไม่ต้องสงสัย
เพราะ ! พรุ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันวาน
-------------------------------------------------------------
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
แดดสวย ฟ้าใส ป่าพะยอม พัทลุง