ฝนหลงฤดูกระหน่ำลงมาไม่ลืมหูลืมตาตลอดทั้งคืน สวนป่าหลังหอพักบุคลากร มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุงกลืนหายไปในหมอกเช้า ใต้ร่มไม้ทางเดินขาวโพลนไปด้วยเห็ดท้องถิ่น สรรพสิ่งนิ่งสงบราวต้องมนต์สะกด มีก็เพียงแมลงไพรที่ส่งเสียงอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
1.
“ดื่มกินจากราก
อดทนรอคอย
กรีดร้อง? ป้องไพร”
ข้าพเจ้านิ่งคิดเขียนอะไรบางอย่างอยู่ครู่หนึ่งก่อนตัดสินใจก้าวเท้าออกจากบ้านรับรอง กระโดดข้ามคันคูเล็กๆ ชุ่มฝน เดินฝ่าหมอกหนาหนาวเย็น เพ่งสายตาระแวดระวังเบื้องหน้า สู่ความรางเลือน
ขณะหนึ่ง ! บางสิ่งบางอย่างเคลื่อนไหว เงาตะคุ่มตรงพุ่มไม้ปะทะราวสายตา
ข้าพเจ้าเห็น..ต้นไม้เพียงบางต้น ทว่าไม่เห็นป่า และใบไม้
2.
ข้าพเจ้าส่งข้อความเข้าในไลน์กลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัย “ผู้บริหารต้องมอง คิดวิเคราะห์ให้เห็นภาพอนาคตที่เป็นภาพรวม ภาพใหญ่ แล้วค่อยลงมือทำ/ ปฏิบัติการจากจุดที่รับผิดชอบ อุปมาดังการมองให้เห็นป่าทั้งป่า แล้วค่อยขยายป่าเพิ่มด้วยการปลูกต้นไม้ทีละต้น ที่สำคัญอย่าเพียงเห็นใบไม้แล้วทึกทักว่าเป็นป่าอันอุดม”
นัยและเจตนาสำคัญของสาร? การบริหารต้องมองให้เห็นป่าทั้งป่า คือการพัฒนาขีดความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างลึกซึ้ง กระทั่งมองเห็น “ภาพรวมที่เป็นองค์รวม รายละเอียดที่กอรป สร้างความเชื่อมโยงให้โยงใยถึงกันในระบบนิเวศบริหาร เกิดระบบปฏิบัติการที่หนุนเสริมกันและกันในทุกมิติ ทุกพันกิจกิจขององค์กร”
หลายคราที่เรามักให้ความสนใจและลงมือทำสิ่งต่างๆ บนพื้นฐานของความถนัด/ ความชอบ ออกอีเว้นท์ เน้นเด่นดังให้แสงส่อง หรือบริหารในหน้าที่-หน้างานรับผิดชอบอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ มีผลงานออกมาดีเยี่ยม แต่กลับกลายเป็นว่างานอันยอดเยี่ยมนั้น เหมือนแสงวูบมาแล้ววาบหายไป ไม่สัมพันธ์กับเป้าหมาย ขาดแรงส่งไปสู่การต่อภาพในภาพรวมระบบใหญ่ให้เติบโต ขยายตัวได้อย่างยั่งยืน
“มองให้เห็นภาพใหญ่
ไม่ละเลยเรื่องเล็ก เข้าใจป่าทั้งป่า
เก็บเด็ดใบไม้มากอบกำ”
ข้าพเจ้าคิดและทำเช่นนี้เสมอ
3.
สายของวันข้าพเจ้าแวบไปเยี่ยมส่วนงานวิชาการหนึ่งโดยไม่นัดหมายล่วงหน้า พบปะคณบดี ชวนสนทนาแลกเปลี่ยนในหลายเรื่องทั้งในแง่มุมมองชีวิต การบริหาร และการพัฒนางานใหม่ที่คาดหวังจะต่อยอด แตกหน่อจากฐานทุนเดิมที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ใหม่ๆ เธอพยักหน้าแย้มยิ้ม ก่อนตบท้าย
“ขอเป็นเห็ดราในป่าใหญ่ที่มีคุณค่า ในมหาวิทยาลัยทักษิณ”
ข้าพเจ้าอึ้งและทึ่งกับคำพูดนั้น?
จากการเคยเป็นนักเรียนวิทยาศาสตร์มีความรู้แบบผิวเผิน เหมือนเพียงเดินผ่าน อาจทำให้เข้าใจรู้จักเห็ดราเพียงสิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตแบบย่อยสลาย ปลดปล่อยเอนไซต์ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนป่าและสรรพชีวิต แต่จากคำพูดนั้นทำให้ข้าพเจ้าคิดไปไกลถึงความรู้อีกด้านที่มาจากจินตนาการ
หลายปีก่อนนักวิทยาศาสตร์ได้เสนอรายงานข้อค้นพบอันน่ามหัศจรรย์ ว่าเหล่าพืชมีการติดต่อสื่อสาร เชื่อมต่อถึงกันอยู่ตลอดเวลาผ่านระบบรากที่ประกอบด้วยเส้นใยของเห็ดราใต้ผืนป่า ที่เรียกว่า “ไมซีเลียม” (Mycelium) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกเครือข่ายการสื่อสารนี้ว่า “Wood Wide Web” อันเป็นเครือข่ายการสื่อสารแบบเกื้อกูล พึ่งพาอาศัย โยงใยถึงกัน ที่ทำให้โลกและสิ่งมีชีวิตอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ เ
ฉะนั้น เห็ดราคือรากฐาน ความจำเป็นของการอยู่รอด การดำรงอยู่ของผืนป่า การเติบโตของต้นไม้ และสิ่งมีชีวิตในระบบวิวัฒนาการ ความสัมพันธ์ ความสมดุลยั่งยืนของระบบนิเวศ
4.
“เรามาเปลี่ยนโลก ด้วยการสร้างอาณาจักรแห่งเห็ดรา มหาวิทยาลัยทักษิณด้วยกัน”
ข้าพเจ้าตอบไปอย่างนั้น ก่อนเดินยิ้มอย่างอิ่มอกอิ่มใจออกมา
....................................
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
ป่าพะยอม พัทลุง