ปลุกเรื่องราว ให้กายเล่าเรื่อง พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมสังคม ผ่านการแสดงร่วมสมัย Stories for a Better World

ปลุกเรื่องราว ให้กายเล่าเรื่อง พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมสังคม ผ่านการแสดงร่วมสมัย Stories for a Better World

24 ก.ค. 68 57

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ผนึกกำลังสถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย เปิดเวทีการแสดงศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “Stories for a Better World: เมื่อร่างกายเล่าเรื่อง เรื่องราวจะตื่นขึ้น” ถ่ายทอดพลังของร่างกายในฐานะสื่อกลางการเล่าเรื่อง เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และขับเคลื่อนนวัตกรรมสังคม ผ่านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย–สเปน ต่อยอดศักยภาพนิสิตสู่เวทีนานาชาติ

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย จัดการแสดงศิลปะร่วมสมัย “Stories for a Better World: เมื่อร่างกายเล่าเรื่อง เรื่องราวจะตื่นขึ้น (When bodies speak, stories awaken.)” ณ หอปาริชาติ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณะศิลปกรรมศาสตร์ นิสิต ร่วมถึงผู้สนใจร่วมชมการแสดงอย่างคับคั่ง

การแสดงครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติ “ศิลปะการแสดงสร้างสรรค์สู่นานาชาติ: การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนผ่านเวทีโลก” (Creative Performing Arts toward Global Stage: International Workshop & Exchange) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 กรกฎาคม 2568 ซึ่งได้รับเกียรติจาก Mr. Fernando López Rodríguez วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสเปน ร่วมกับคณาจารย์และนิสิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จำนวน 35 คน ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์เชิงสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการเวิร์กช็อปอย่างเข้มข้นตลอด 3 วัน ประกอบด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการนาฏศิลป์ตะวันตก และการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ต่อสาธารณชน จนกลายมาเป็นต้นแบบสำคัญของการพัฒนาวัฒนธรรมร่วมสมัยในอนาคต จากกิจกรรมดังกล่าว นิสิตผู้เข้าร่วมโครงการจึงได้จัดกลุ่มและแบ่งชุดการแสดง เป็น 3 ชุดการแสดง โดยถ่ายทอดแนวคิดร่วมสมัยและสะท้อนประเด็นสังคม ได้แก่

  • ชุดที่ 1: “การเป็นตัวของตัวเองดีที่สุดแล้ว” ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของนางเงือกที่อยากใช้ชีวิตแบบมนุษย์ โดยกล้าที่จะเปลี่ยนตัวเองจนสุด้ายแล้วจึงตระหนักว่า "การเป็นตัวเองคือสิ่งที่ดีที่สุด"

  • ชุดที่ 2: นำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศและการเปิดใจยอมรับเพศวิถีที่แตกต่าง LGBTQ+ ในสังคมปัจจุบัน

  • ชุดที่ 3: ถ่ายทอดเรื่องราวของโลมาอิรวดี สะท้อนแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ทะเลและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ

จากนั้นเป็นการแสดงเดี่ยวของ Mr. Fernando López Rodríguez ที่นำเสนอการสำรวจร่างกายในฐานะภาชนะของความทรงจำและการเปลี่ยนผ่าน ก่อนเข้าสู่การแสดงคู่ระหว่างเขากับอาจารย์ธีติ พฤกษ์อุดม ที่ถ่ายทอดบทสนทนาระหว่างวัฒนธรรม และความรู้สึกโหยหาถึง "บ้าน" ที่ไม่ใช่เพียงสถานที่ แต่คือความรู้สึกเป็นเจ้าของและปลอดภัย

การแสดงปิดท้าย เป็นการแสดงร่วมกันของ Mr. Fernando López Rodríguez กับผู้ช่วยศาสตราจารย์อรวรรณ โภชนาธาร อาจารย์ศุภศิลป์ อินทรเพ็ชร และอาจารย์ธีติ พฤกษ์อุดม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ถ่ายทอดการเฉลิมฉลองสายสัมพันธ์และการสร้างสรรค์ร่วมกัน ซึ่งสะท้อนความงามทางด้านวัฒนธรรมทั้งแบบดั้งเดิมและแบบมนุษยนิยมที่ยังคงเชื่อมโยงกับโลกของเราเอาไว้ด้วยกัน

โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างทักษะด้านศิลปะการแสดง ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม และการทำงานร่วมกันระหว่างนิสิตและศิลปินจากนานาชาติ โดยผสานแนวคิดสากลเข้ากับอัตลักษณ์ท้องถิ่น สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยทักษิณในการก้าวสู่ “มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมแนวหน้าของประเทศภายในปี 2570” และสะท้อนวิสัยทัศน์ของการสร้าง “Glocal Talent” หรือการหล่อหลอมบุคลากร และนิสิต ให้มีศักยภาพทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก

ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับบริบทท้องถิ่น ทั้งยังเสริมสร้างเครือข่ายวิชาการไทย-สเปน และยกระดับศักยภาพนิสิตผ่านประสบการณ์จริง

..................................

ข่าว :  งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัย