มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ The 1st International Conference on Disaster Risk Management for Strengthening Resilience and Sustainability in Communities 2025 (ICDRM2025) ภายใต้ธีม “Strengthening Integrated Disaster Management to Empower Communities and Sustainability in Disaster Risk Reduction” ระหว่างวันที่ 17–18 กรกฎาคม 2568 ณ หอประชุมเปรมดนตรี และอาคาร 50 ปี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา
การประชุมครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติแบบองค์รวม โดยนำองค์ความรู้เชิงวิชาการ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบูรณาการเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะภาคใต้ของไทย ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 550,000 ครัวเรือนใน 8 จังหวัด ICDRM2025 ถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างภาคการศึกษา หน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และเครือข่ายต่างประเทศ
โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากนานาชาติร่วมบรรยายพิเศษคือ Prof.Dr.Alice Yuen Loke จาก The Hong Kong Polytechnic University นำเสนอหัวข้อ “Proactive Policy Framework for Disaster Management in the Asia-Pacific Region” และ Prof.Dr.Joanne Langan จาก Saint Louis University, USA นำเสนอหัวข้อ “Integrated multi-disciplinary disaster management based on community engagement and driven by technology and innovation” รวมถึงผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่านจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา
การนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหัวข้อหลัก ได้แก่: 1) การเสริมพลังชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 2) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการเตรียมพร้อมและการเตือนภัยล่วงหน้า 3) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน 4) ธรรมาภิบาล นโยบาย และความร่วมมือหลายภาคส่วนในการจัดการภัยพิบัติ
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีนิทรรศการนวัตกรรมเพื่อการจัดการภัยพิบัติแบบบูรณาการ โดยสถาบันการศึกษาและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ
- ศูนย์พักพิงภัยพิบัติแบบจำลอง ม.ทักษิณ
- ระบบเตือนภัยน้ำป่าไหลหลากด้วย IoT ใน อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง
- เสื้อชูชีพจากยางพารา
- ผลิตภัณฑ์แท่งพลังงานจากวัตถุดิบท้องถิ่น จ.พัทลุง สำหรับการตอบสนองภัยพิบัติ
- ระบบการเลี้ยงปลาแบบทนต่อน้ำท่วมเพื่อเสริมความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน
- ต้นแบบแอปพลิเคชันเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในประมงขนาดเล็ก / สำหรับการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยในกลุ่มเปราะบาง
- บูธแสดงบทบาทของภาควิชาการในการรับมือและฟื้นฟูจากอุทกภัย ม.สงขลานครินทร์
- นิทรรศการนวัตกรรมเพื่อจัดการภัยพิบัติจาก ม.ราชภัฏยะลา และ ม.นราธิวาสราชนครินทร์
การประชุม ICDRM2025 มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน จากทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วยนิสิต นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานด้านภัยพิบัติ สะท้อนบทบาทของมหาวิทยาลัยทักษิณในฐานะ “ตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)” ที่ใช้พลังของวิชาการขับเคลื่อนสังคม สร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วม สู่การจัดการภัยพิบัติที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับบริบทของชุมชน
***********************************
ข่าว : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัย