ม.ทักษิณ ร่วมมือกรมควบคุมโรค และโรงพยาบาลสงขลา นำร่องให้บริการวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV

ม.ทักษิณ ร่วมมือกรมควบคุมโรค และโรงพยาบาลสงขลา นำร่องให้บริการวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV

16 ก.ค. 68 51

มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมมือกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลสงขลา ให้บริการวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV สำหรับนิสิตหญิง จำนวน 300 คน ประจำปีงบประมาณ 2568 นำร่องเดินหน้าเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และลดความเสี่ยงการป่วยรุนแรงจากการเกิดมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทย

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาคุณภาพองค์กร และฝ่ายกิจการนิสิต ร่วมมือกับกรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลสงขลา ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส เอชพีวี (HPV) ให้แก่นิสิตหญิงของมหาวิทยาลัยทักษิณ  เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส HPV ในกลุ่มนิสิตหญิงไทย ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน HPV เพื่อมุ่งหวังผลในการลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการเกิดมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทย  โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมให้การต้อนรับและเป็นประธาน  ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 สถาบันทรัพยากรการเรียนรู้และเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา โดยนายแพทย์สรรเสริญ อุ้ยเอ้ง รองผู้อำนวยการภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลสงขลา  และ เภสัชกรนุชน้อย ประภาโส รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ร่วมในการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณ จำนวน 300 คน

การจัดกิจกรรมรณรงค์การฉีดวัคซีน HPV (ชนิด 9  สายพันธุ์) ป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยทักษิณ กับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลสงขลา โดยในปี 2568 กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนนโยบายการให้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส เอชพีวี (HPV) ในหญิงไทยอายุ 11–20 ปี ทั้งในและนอกระบบการศึกษา โดยตั้งเป้าหมายให้บริการวัคซีน HPV จำนวน 1 ล้านโดส ภายในปีงบประมาณ 2568 โดยฉีดเป็นเข็มที่ 2 ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เคยได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว และในผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน (วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ ์ จำนวน 1 เข็ม) ได้แก่ นักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2567 หรือหญิงอายุ 11–12 ปี ตามสิทธิประโยชน์ภายใต้ ระบบหลักประกันสุขภาพ และหญิงไทยอายุ 11–20 ปี ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน HPV มาก่อน แต่จากผลบริการ พบว่า การให้บริการวัคซีน HPV 9 สายพันธุ ์ จำนวน 1 เข็ม ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะในช่วง อายุ 18–20 ปี

ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงวัคซีนในกลุ่มเยาวชน กระทรวงสาธารณสุขจึงดำเนินโครงการ ให้บริการในกลุ่มนักศึกษาระดับอุดมศึกษา และสามารถอนุโลมการให้วัคซีนแก่กลุ่มนักศึกษาหญิงระดับชั้นปริญญาตรีที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ในกรณีที่มีการให้บริการในรูปแบบบริการในมหาวิทยาลัย (university based) ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารกำกับยาที่ระบุว่าวัคซีนยังให้ประโยชน์ในกลุ่มอายุไม่เกิน 26 ปี โดยเริ่ม กิจกรรม Kick-off เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อเพิ่มความครอบคลุมระดับภูมิคุ้มกันโรคต่อเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ในประเทศไทย และครอบคลุมนิสิต นักศึกษา ของมหาวิทยาลัยในกำกับสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 24 แห่ง สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นำร่องการให้บริการวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ชนิด 9 สายพันธุ์  สำหรับนักศึกษาหญิงไทย ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน HPV

ซึ่งมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ร่วมเป็นหนึ่งในจำนวนมหาวิทยาลัยในกำกับสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 24 แห่ง สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นำร่องการให้บริการวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ชนิด 9 สายพันธุ์  สำหรับนักศึกษาหญิงไทย ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน HPV และนำร่องการฉีดวัคซีนในวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ให้แก่นิสิตจำนวน 300 คน เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และลดความเสี่ยงการป่วยรุนแรงจากไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ

รายละเอียดโครงการ

....................................

ข่าว : งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัย