นักศึกษา 6 ประเทศ ค่ายนวัตกรรมสังคมนานาชาติ ลงพื้นที่โมเดลแก้จนพัทลุง โดยมี ม.ทักษิณ เป็นแกนกลาง

นักศึกษา 6 ประเทศ ค่ายนวัตกรรมสังคมนานาชาติ ลงพื้นที่โมเดลแก้จนพัทลุง โดยมี ม.ทักษิณ เป็นแกนกลาง

13 ก.ค. 68 335

คณะนิสิตและนักศึกษาต่างชาติจากค่าย “International Social Innovation Camp 2025” กว่า 50 คน จาก 6 ประเทศ ลงพื้นที่จังหวัดพัทลุง ร่วมเรียนรู้วิถีชีวิตและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ ภายใต้โครงการวิจัย “พัทลุงโมเดล: การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นและภูมิปัญญาชุมชนเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2568 คณะนิสิตและนักศึกษาต่างชาติในโครงการ “ค่ายนวัตกรรมสังคมนานาชาติ (International Social Innovation Camp 2025)” กว่า 50 คน จาก 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ลาว และไทย ได้ลงพื้นที่เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนในจังหวัดพัทลุง ภายใต้โครงการวิจัย “พัทลุงโมเดล: การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ โดยมีมหาวิทยาลัยทักษิณ สนับสนุนจากกองทุน ววน. และ หน่วยงาน บพท. เป็นแกนกลางในการสนับสนุนและประสานความร่วมมือกับชุมชน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม

กิจกรรมในช่วงเช้า คณะผู้เข้าร่วมได้เยี่ยมชมและร่วมกิจกรรมกับวิสาหกิจชุมชน “กระจูด Lenoi Craft Phattalung” ณ ชุมชนทะเลน้อย อำเภอควนขนุน โดยได้เรียนรู้การอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านงานหัตถกรรมจากต้นกระจูด พืชเศรษฐกิจพื้นถิ่นของพัทลุง พร้อมทั้งได้ทดลองลงมือสานกระจูดเป็นรูปปลาด้วยตนเอง สร้างความประทับใจและตื่นเต้นให้กับผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมาก กิจกรรมดังกล่าวได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรธรรมชาติและองค์ความรู้ในท้องถิ่น ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นรายได้อย่างยั่งยืนทั้งในช่องทางออฟไลน์และออนไลน์

 ช่วงสาย คณะได้เดินทางต่อไปยังอำเภอศรีนครินทร์ เพื่อเยี่ยมชม “ศรีนาคาโมเดล” อีกหนึ่งพื้นที่ต้นแบบในโครงการแก้จน ซึ่งเน้นการพัฒนาทักษะอาชีพด้านสิ่งทอผ่านการฝึกอบรมผ้ามัดย้อมและผ้าพิมพ์ลายจากสีธรรมชาติ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ผู้เข้าร่วมโครงการได้ร่วมทำ Workshop ผ้ามัดย้อม ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเองและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังของวิสาหกิจชุมชนที่เชื่อมโยงทุนวัฒนธรรมกับโอกาสทางเศรษฐกิจ จากนั้นแวะพัก "ในดงบอน" ในพื้นที่ธรรมชาติที่ห้อมล้อมด้วยต้นบอนขนาดใหญ่ 

ในช่วงบ่าย คณะได้เดินทางมายังคณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เพื่อเรียนรู้ศาสตร์การนวดแผนไทย และการทำยาดมสมุนไพรผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้พื้นถิ่นที่สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในระยะยาว 

การลงพื้นที่ในครั้งนี้นับเป็นประสบการณ์ตรงอันทรงคุณค่า ที่เปิดโอกาสให้นิสิตและนักศึกษาจากหลากหลายประเทศได้เรียนรู้โมเดลวิสาหกิจชุมชนของไทยในบริบทจริง และเห็นถึงพลังความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน และการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) ในมิติการลดความยากจนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างแท้จริง

 

.......................................

ข่าว/ภาพ :  งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ