โครงการ “โคก หนอง นา โมเดล : มหาวิทยาลัยทักษิณเพื่อชุมชน” เริ่มออกดอกออกผล หลังลงมือพัฒนาพื้นที่เกษตรแบบผสมผสานภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้จริง ช่วยสร้างรายได้และความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชนรอบข้าง ตามเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
ผลผลิตจากโครงการวิจัย “โคก หนอง นา โมเดล : มหาวิทยาลัยทักษิณเพื่อชุมชน” หนึ่งในกิจกรรมภายใต้ชุดโครงการ “พัทลุงโมเดล: การวิจัยและนวัตกรรมสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” ได้เริ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม จากพื้นที่การเกษตรขนาด 8 ไร่ ภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง
พื้นที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนาเป็น สวนเกษตรแบบผสมผสาน ที่ปลูกทั้งพืชเศรษฐกิจและพืชสมุนไพร ทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว โดยในรอบการเก็บเกี่ยวล่าสุดจาก “พื้นที่ส่วนกลางหมายเลข 4” ได้ผลผลิต ได้แก่
• ถั่วฝักยาว จำนวน 93 กิโลกรัม
• มะเขือ จำนวน 27 กิโลกรัม
• พริก จำนวน 8 กิโลกรัม
• ฟักแฟง จำนวน 12 กิโลกรัม
โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ววน. และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมี กลุ่มเป้าหมายหลักคือครัวเรือนยากจนในพื้นที่ ต.บ้านพร้าว อ.ป่าพะยอม รวมทั้งลูกจ้างมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไป และเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 30 ครัวเรือน
ซึ่ง "โคกหนองนาโมเดล" คือ การจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ โคก หนอง นา โมเดล เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งเป็นแนวทางทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยให้ประโยชน์ของชุมชน และเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจกระจายรายได้ สร้างงาน อาชีพแก่เกษตรกรและชุมชน
........................................................
ข่าว : งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยทักษิณ