มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง และวิสาหกิจชุมชนทำนาริมเลบ้านปากประ จัดงาน “เกษตรมั่นคง ชุมชนยั่งยืน ฟื้นฟูวิถีถิ่น” ตอน “ลุยโคลน ปลูกข้าว เล่าขานวิถีนาเล” เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นหนึ่งเดียวในไทย ฟื้นฟูวิถีเกษตรนาริมเล พร้อมดึงชุมชน นักวิชาการ และนักท่องเที่ยว ร่วมลงมือปักดำ เรียนรู้ข้าวพื้นบ้าน และต่อยอดสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
วันที่ 14 มิถุนายน 2568 นายรัฐศาสตร์ ชิดชู ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเปิดงาน“เกษตรมั่นคง ชุมชนยั่งยืน ฟื้นฟูวิถีถิ่น” ตอน “ลุยโคลน ปลูกข้าว เล่าขานวิถีนาเล” ณ พื้นที่นาริมเล โรงเรียนวัดปากประ ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ กลุ่มเกษตรกร นักเรียน นักท่องเที่ยวเข้าร่วมจำนวนมากกว่า 300 คน
กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ด้านการทำนาริมเลที่ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นหนึ่งเดียวของไทย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการรักษาและพัฒนาทรัพยากรพื้นถิ่น และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมที่ยั่งยืน กิจกรรมเด่นในงาน คือ การปักดำข้าวพันธุ์เฉพาะถิ่น เช่น กข-55 กข-43 หอมนาเล 1 หอมนาเล 2 และจัสมินทร์ ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ริมเล ปัจจุบันมีพื้นที่ 63 ไร่
บทบาทของมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยหน่วยบริการวิชาการวิชายุทธเกษตรสู้จน คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน ได้เข้าร่วมงานอย่างโดดเด่น นำโดยอาจารย์ ดร.นันทิยา พนมจันทร์ หัวหน้าโครงการวิจัย ซึ่งได้นำเสนอองค์ความรู้จากงานวิจัยเรื่อง "ข้าวนาริมเล" ผ่านการบอกเล่าการทำวิจัยเชิงพื้นที่กับชุมชนในการร่วมเสวนากับภาคเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังจัดแสดงนิทรรศการข้าวนาริมเล และแจกเมล็ดพันธุ์ผัก แก่ผู้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการด้วย
กิจกรรมที่ดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยว และนักเรียนไม่น้อย นั้นคือ กิจกรรมการเรียนรู้พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน การทำขนมพื้นบ้าน เช่น ตอกซาวพร้าว การละเล่นและวิถีชีวิตพื้นบ้าน กิจกรรม "ถอนกล้า-ดำนา" เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง โดยคุณวิจิตรา อมรวิริยะชัย นักวิชาการศึกษา สถาบันส่งเสริมการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ โครงการวิจัย ทุนเมืองการเรียนรู้ Learning city
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการพันธุ์ปลาทะเลสาบสงขลา และกิจกรรมพิมพ์ภาพปลาแนว Gyotaku โดยอาจารย์เตือนตา ร่าหมาน จากหน่วยวิชาการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยทักษิณ สร้างประสบการณ์ใหม่ระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
“การอนุรักษ์ คือการฟื้นคืนชีวิต – การเรียนรู้ คือการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นาริมเลจึงไม่ใช่เพียงพื้นที่เกษตร แต่คือแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต และเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ทรงคุณค่าอย่างยั่งยืน
........................................
งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัย