ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการผลักดันการพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ด้วยการผสานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สามารถแข่งขันได้ในระดับอุตสาหกรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ด้วยเป้าหมายในการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนในพื้นที่ที่มีการปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน สถาบันวิจัย และกลุ่มเกษตรกร เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราให้มีความหลากหลาย ทันสมัย และตรงตามความต้องการของตลาด เช่น การผลิตยางกันกระแทกสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมและระบบขนส่ง การแปรรูปยางเพื่อใช้ในอุปกรณ์ทางการแพทย์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ยางเชิงนวัตกรรม ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly) แผ่นยางปูพื้น / ยางลดแรงสั่นสะเทือน สำหรับอาคาร โรงงาน และอุปกรณ์กีฬา นอกจากการพัฒนาเชิงเทคนิคแล้ว มหาวิทยาลัยยังส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ และการตลาดดิจิทัล เพื่อช่วยให้กลุ่มผู้ผลิตในชุมชนสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน
อาจารย์ ดร.วีระวุฒิ แนบเพชร รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาองค์กร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า “การผลักดันสินค้าจากยางพาราเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้แปรรูปเท่านั้น แต่ยังเป็นการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ”
ปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน เข้ามาศึกษาดูงาน และอบรมเชิงปฏิบัติการกับทางศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การดำเนินงานของศูนย์ฯ เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจด้านบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาท้องถิ่นด้วยองค์ความรู้ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง พร้อมเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค และขับเคลื่อนนวัตกรรมยางพาราไทยสู่เวทีโลก
.............