คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ นำนิสิตและบุคลากรร่วมแสดงดนตรีและการแสดงในงานประจำปีและงานกาชาดจังหวัดสงขลา ประจำปี 2568 ณ ลานเวทีกลางสระบัว อำเภอเมืองสงลา จังหวัดสงขลา ในระหว่างวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2568
ระหว่างวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2568 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สนับสนุนการจัดงานกาชาดจังหวัดสงขลา โดยส่งนิสิตและบุคลากรร่วมแสดงดนตรีและแสดงโชว์ผลงานสร้างสรรค์ในงานกาชาด จังหวัดสงขลา ประจำปี 2568 ณ ลานเวทีกลาง สระบัว จังหวัดสงขลา โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวีวัฒน์ ไทยเจริญ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณาจารย์ และนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมให้กำลังใจทีมนักแสดง นอกจากนี้ยังมีบุคลากรทั้งภายในและภายนอกสถาบัน ประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยว เข้าร่วมรับชมการแสดงในครั้งนี้อย่างล้นหลาม สำหรับงานประจำปีและงานกาชาดจังหวัดสงขลา ประจำปี 2568 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-30 พฤษภาคม 2568 ณ บริเวณลานสระบัว อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
สำหรับการแสดงในวันที่ 17 พฤษภาคม 2568 มีชุดการแสดงสร้างสรรค์จากนิสิตหลักสูตร ศป.บ.ศิลปะการแสดง และการแสดงดนตรีจากนิสิตสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ ประกอบด้วย การแสดงพิธีเปิด ชื่อชุด "สงขลามหานคร จากรากสู่โลก" การแสดงชุด “ทูนพานบุดายา ฮีดางัน” การแสดงชุด “เป็ดลากูน” การแสดงดนตรี วงสตริง การแสดงดนตรี วงลูกทุ่ง
ส่วนในวันที่ 18 พฤษภาคม 2568 อาจารย์ ดร.ผกาวรรณ บุญดิเรก อาจารย์ประจำสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ ผู้ฝึกสอนและอำนวยเพลง (Conductor) วงประสานเสียงอาวุโสไทย (สงขลา) จัดโชว์ผลงานการขับร้องประสานเสียง 3 บทเพลง จากสมาชิกวงประสานเสียงอาวุไทย (สงขลา) กว่า 20 ท่าน ประกอบด้วย เพลงเพลินเพลงแมมโบ้ เพลงใจประสานใจ เพลงสงขลา
ทั้งนี้คณะศิลปกรรมศาสตร์และสมาคมนักร้องประสานเสียงอาวุโสไทย ตระหนักถึงคุณค่าและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและขยายโอกาสการเรียนรู้การขับร้องประสานเสียงของผู้สูงอายุไทยให้แพร่หลาย โดยใช้ศาสตร์ด้านศิลปกรรมขับเคลื่อนสร้างคุณค่าให้กับสังคม ดังวิสัยทัศน์ เป็นศูนย์กลางการสร้างสรรค์ศิลปกรรมรับใช้สังคมของประเทศ
สำหรับการเข้าร่วมงานกาชาดจังหวัดสงขลา ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และจัดหารายได้สนับสนุนเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา นอกจากนี้คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กำหนดวิสัยทัศน์ “เป็นศูนย์กลางการสร้างสรรค์ศิลปกรรมรับใช้สังคมของประเทศ” ขับเคลื่อนโดยวางนโยบายและยุทธศาสตร์นำสู่การปฏิบัติ เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายของมหาวิทยาลัยและคณะ ผ่านกลไกการขับเคลื่อนที่สำคัญคือการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือที่เข้มแข็งเพื่อสนับสนุนงานดังกล่าวโดยการเปิดพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงาน สถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนต่อไป
.......................................
ข่าว : คณะศิลปกรรมศาสตร์