“โนรา” เป็นศิลปะการแสดงของไทย ลำดับที่ 3 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในปี 2564 ต่อจาก โขน ในปี 2561 และนวดไทย ในปี 2562
ตัวแทนคนโนรา มาร่วมพูดคุยในประเด็น “เหลียวหลัง มองอนาคต มรดกภูมิปัญญา โนราของมนุษยชาติ จากรากสู่โลก” นำโดย ทายาทโนราเติม อาจารย์วราภรณ์ อ๋องเซ่ง ประธานพิพิธภัณฑ์มีชีวิต โนราเติม วิน-วาด กับ 2 หนุ่ม ตัวแทนโนรารุ่นใหม่ นายธนภูมิ หนูคง นิสิตชั้นปีที่ 3 จากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยทักษิณ และนายธวัชชัย พุฒทวี ผู้ประกอบการโนรา มี คุณเบ็ญจวรรณ บัวขวัญ นักวิชาการศึกษา สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ รับหน้าที่ดำเนินรายการ
ชวนเหลียวหลัง แลราก “โนรา”
อาจารย์วราภรณ์ อ๋องเซ่ง ได้เล่าประสบการณ์สมัยวัยสาวจากเด็กที่เติบโตมาในโรงโนรา เกี่ยวกับเอกลักษณ์ลีลาการรำของโนราแต่ละสาย ซึ่งผู้ชมในอดีต หรือคนโนราด้วยกันจะสามารถระบุสายได้ทันทีเมื่อเห็นลีลาการรำ เช่น สายสุราษฎร์ธานี จะมีการสะบัดตัว, สายตรัง จะมีความนุ่มนวล และพลิ้วไหว, สายพัทลุง นครศรีธรรมราช จะมีความเข้มแข็ง แข็งแรง ส่วนสายสงขลา จะเป็นลูกผสมของความเข้มแข็งและนุ่มนวล แต่ไม่ว่าจะอย่างไร โนราทุกสายต่างก็มีท่ารำ 12 ท่ามาตรฐานเหมือนกัน ซึ่งเป็น “ราก” ที่โนราทุกคนต้องยึดไว้ให้มั่น จริงอยู่ที่ยุคสมัยเปลี่ยน โนราก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่ที่สุดแล้วก็ขอให้คงไว้ซึ่ง “ราก” กำเนิด
แรกเริ่มเดิมที โนราจะเป็นผู้ชาย สำหรับโนราหญิงนั้นมีจุดกำเนิดมาจาก “โนราหนูวิน - หนูวาด” ซึ่งเป็นโนราสายพิธีกรรม ทั้งเป็นโนราหญิงคู่แรกที่ผ่านพิธีกรรมโรงครูโดยการ “คล้องหงส์” แต่ไม่มีการ “แทงเข้” เพราะใช้สำหรับโนราชาย
คุณเบ็ญจวรรณ บัวขวัญ ได้แบ่งปันเพิ่มเติมว่า เดิมที โนราคณะหนึ่งๆ จะมีสมาชิกประมาณ 15 – 20 คน แต่ปัจจุบันด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โนราเพียง 1 คน ก็สามารถเป็นคณะได้ เพราะมีการเช่าเครื่องดนตรีได้
จุดเริ่ม....เส้นทางโนรา
2 หนุ่ม ตัวแทนโนรารุ่นใหม่ ได้บอกเล่าจุดเริ่มต้นของการเป็นโนรา นายธนภูมิ หนูคง เล่าว่า หัดรำมาตั้งแต่ ป.1เริ่มต้นจากความชอบ ประกอบกับองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ซึ่งเป็นส่วนท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ได้จัดตั้ง “กลุ่มรักษ์โนราท่าข้าม” เปิดสอนโนราให้แก่นักเรียนและคนที่สนใจในชุมชน จากนักเรียนโนรา ป.1 ในวันนั้น ธนภูมิ ก็เติบโตมาเป็นผู้ช่วยครู ในการสอนโนราให้กับน้องๆ เยาวชนรุ่นต่อมา
ธวัชชัย พุฒทวี ผู้สืบเชื้อสายโนรามาจากรุ่นทวด แต่ขาดช่วงในการส่งไม้ต่อในรุ่นปู่ย่า และรุ่นพ่อแม่ ทำให้ธวัชชัยได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ “โนราเจือ ชูศิลป์” บางเขียด ซึ่งเป็นศิษย์คนสุดท้ายที่ได้รับการถ่ายทอดแบบมือต่อมือ แม้ว่าจะไม่ได้ร่ำเรียนกับสายโนราของตระกูลตนเอง แต่ธวัชชัย ก็ตั้งใจจะสานต่อมรดกโนราให้คงอยู่ต่อไป
“คนโนรา” กับการขับเคลื่อนโนรา
นายธนภูมิ หนูคง เล่าว่า นอกจากการสอนโนราเป็นภารกิจหลักแล้ว “กลุ่มรักษ์โนราท่าข้าม” ยังมีการขับเคลื่อนในเรื่องผลิตภัณฑ์ เช่น การใช้ลวดลายโนราตกแต่งกระเป๋า การร้อยลูกปัดเป็นสร้อยคอ ต่างหู และยังใช้ท่ารำโนรามาประยุกต์กับท่าออกกำลังกาย ในรูปแบบ “โนราบิค”
นายธวัชชัย พุฒทวี ก็ยังคงยืนหยัดในเจตนารมณ์ ของการทำหน้าที่ครูโนรา เพื่อถ่ายทอดส่งต่อมรดกอันทรงค่านี้ต่อไป
อาจารย์วราภรณ์ อ๋องเซ่ง กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนโนรา คือ ถ่ายทอดสู่เยาวชนผ่านการสอนและฝึกฝนให้เขาไม่ลืมรากกำเนิด รวมถึงการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ โดยส่วนตัวนั้นมั่นใจและหวังใจในสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่จะเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนโนราภาคใต้ ไม่ใช่แค่ในจังหวัดสงขลา
“สถาบันทักษิณคดีศึกษา” กับการขับเคลื่อนโนรา
คุณเบ็ญจวรรณ บัวขวัญ เน้นย้ำว่า สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ให้ความสำคัญกับ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” เสมอมา ตั้งแต่ยุคก่อร่างสร้างฐานในสมัยศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ปูชนียบุคคลชาวภาคใต้ผู้สถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา และพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา เจ้าของวาทกรรม “กุศลปรุงแต่งกรรม วัฒนธรรมปรุงแต่งคน” ซึ่งแน่นอนว่าการดำเนินงานของสถาบันทักษิณคดีศึกษา ยังคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์เดิมของท่าน
“โนราไม่มีวันตาย” อาจารย์พนิดา ฐปนางกูร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา กล่าวด้วยความมั่นใจในฐานะผู้เข้าร่วมฟังการเสวนา และได้แบ่งปันในประเด็นที่ว่า สถาบันทักษิณคดีศึกษา มีหน้าที่ต้อง “คิด ทำ” ต่อเพื่อให้โนราได้แตกกิ่ง ก้าน สาขา และแน่นอนว่าเราจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่จัดแสดงโนรา รวมถึงเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของมรดกภูมิปัญญา “โนราของมนุษยชาติ”
.......................................................................
จิราพร ทวีตา
งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ