สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ชวนเสวนาในหัวข้อ สามสมเด็จเจ้าแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา : สมเด็จเจ้าเกาะยอ สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ และสมเด็จเจ้าพะโคะ หรือหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด สิ่งศักดิ์สิทธิ์สัญลักษณ์แห่งความเชื่อที่มั่นคง ผู้ร่วมพูดคุยโดยพระครูใบฎีกาศักรินทร์ สิริภทฺโท เจ้าอาวาสวัดต้นเลียบ, พระอาจารย์บุญมานพ ปมุตโต สำนักสงฆ์เขากุฏิ เกาะยอ และอาจารย์ชัยวุฒิ พิยะกูล นักประวัติศาสตร์ ดำเนินรายการโดยคุณบุญเลิศ จันทระ นักวิจัยสถาบันทักษิณคดีศึกษา
ที่มาของ “สมเด็จเจ้า” และบทบาทสำคัญต่อบ้านเมือง
อาจารย์ชัยวุฒิ พิยะกูล เริ่มต้นคลี่คลายเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ด้วยที่มาของฐานันดรศักดิ์ของคำเรียก “สมเด็จเจ้า” ว่า รับอิทธิพลจากเขมร และใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เข้ามาพร้อมการปกครองของคณะสงฆ์ในอดีต ซึ่งสังกัดกรมวัด มีเจ้าคณะสงฆ์เป็นผู้บังคับบัญชา ได้รับสิทธิการปกครองและการครอบครองที่ดินจากพระมหากษัตริย์ ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ทำให้โครงสร้างการปกครองของหัวเมืองมีความซ้อนทับกันอยู่ระหว่าง “ฝ่ายอาณาจักร” (บ้านเมือง) กับ “ฝ่ายศาสนจักร” ซึ่งอาจารย์ชัยวุฒิ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความชาญฉลาดของกรุงศรีอยุธยา ไว้ว่า เป็นการใช้ระบบ “ความศรัทธา” ให้วัด หรือศาสนาเป็นจุดรวมใจคนให้เป็นปึกแผ่น เพื่อถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองของหัวเมืองต่างๆ ป้องกันการกระด้างกระเดื่อง หรือการแข็งเมือง นับเป็นกุศโลบายอันแยบคายที่ใช้หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนามายึดโยง “อาณาจักร” และ “ศาสนจักร” เข้าไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังใช้เป็น “กันชน” อิทธิพลของศาสนาอิสลามที่กำลังแผ่ขยายเข้ามาทางคาบสมุทรมลายู ในขณะนั้น
พระครูใบฎีกาศักรินทร์ สิริภทฺโท ได้กล่าวเสริมในประเด็น “บทบาทและความสำคัญของสงฆ์” ว่าเกิดมาจาก 3 ประการหลักๆ คือ 1. การสร้างคุณูปการ 2. ความเชื่อ ความศรัทธา และ 3. อิทธิปาฏิหาริย์
สำหรับสมเด็จเจ้าพะโคะ หรือหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดนั้น ท่านมีชีวิตอยู่ในสมัยอยุธยาและได้สร้างคุณูปการไว้มากมาย ทว่าผู้คนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันจะรู้จักหลวงปู่ทวดผ่านวัตถุมงคล “พระเครื่อง” ที่ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2497 และเรื่องราวอิทธิปาฏิหาริย์ จนกลายเป็นความเลื่อมใส ศรัทธา
ตามรอยหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ผ่านคติธรรม 4 ประการ
นอกจากมิติความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด พระครูใบฎีกาศักรินทร์ ชวนเราตามรอยหลวงปู่ทวด ผ่านคติธรรม 4 ประการ อันเป็นแบบอย่างที่ดี ได้แก่
ความพากเพียร ท่านมีความขยันหมั่นเพียรเรื่องการเล่าเรียนมาตั้งแต่เยาว์วัย เริ่มต้นศึกษาที่วัดดีหลวง ต่อด้วยวัดสีหยัง วัดสีมาเมือง กระทั่งไปถึงกรุงศรีอยุธยา
ความกตัญญู เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง “สมเด็จพระราชมุณี” แห่งกรุงศรีอยุธยา ท่านก็กลับมาบูรณะ ปฏิสังขรวัดวาอาราม ในคาบสมุทรสทิ้งพระ บ้านเกิด จนเกิดความรุ่งเรือง
ความเมตตา ในเหตุการณ์ที่ถูกโจรสลัดจีนจับตัวท่านไป และครั้งที่ท่านร่วมเดินทางทางเรือแล้วเกิดลมพายุ ถูกผู้คนบนเรือขับไล่กล่าวหาว่าท่านเป็นต้นเหตุของอาเพศ หลวงปู่ทวดก็ทรงใช้อิทธิฤทธิ์เยียบน้ำทะเลให้กลายเป็นน้ำจืดเพื่อใช้เป็นน้ำดื่มสำหรับคนที่คิดร้ายต่อท่าน
รู้รักษาชาติ ยามบ้านเมืองมีภัยก็ใช้ปัญญาในการรบด้วยการแก้ปริศนาธรรม เมื่อเกิดโรคระบาดก็ทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมแก่ประชาชนทั่วทั้งพระนครจนหายโรค ซึ่งนับเป็นผู้มีคุณูปการต่อชาติบ้านเมือง
สมเด็จเจ้าเกาะยอ
จากบันทึกข้อมูลประวัติที่ได้ถ่ายทอดบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า สมเด็จเจ้าเกาะยอ ได้เดินทางมาจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาจนมาถึงเกาะยอ ซึ่งมีสภาพพื้นที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ชาวบ้านจึงได้สร้างกุฏิให้ท่านใช้เป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาบนภูเขา ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในเกาะยอ เรียกว่า “เขากุฏิ” ตลอดชีวิตที่เกาะยอท่านสอนให้ผู้คนได้ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา และเป็นที่พึ่งทางจิตใจสำหรับชาวเกาะยอทุกคน พระอาจารย์บุญมานพ ปมุตโต กล่าวเสริมว่า “สมเด็จเจ้าเกาะยอ” เป็นผู้รักการปฏิบัติภาวนา บารมีของท่านปกแผ่ คุ้มครองชาวเกาะยอตลอดมา ทั้งยังเน้นย้ำแก่เราเรื่องความสุข สงบจากภายในที่แท้จริง อันเกิดจากการปฏิบัติธรรมและการเจริญภาวนา
สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่
สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ เป็นชาวบ้านท้องบัว จังหวัดปัตตานี มีพี่น้องสามคน เมื่อครั้งเมืองปัตตานีเกิดความวุ่นวาย มีโจรสลัดบุกปล้นบ้านเมือง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ศึกแขก" สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่และพี่น้องจึงอพยพมายังเมืองสงขลา ผ่านเขาแดง เขาเขียว เกาะยอ บ้านป่าขาด เกาะราบ เกาะกระ เกาะสี่ เกาะห้า จนถึงเกาะใหญ่ และท่านได้พิจารณาว่าเกาะใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์จึงนำเรือเข้าจอดและจมเรือ ณ ที่นั่น ในเวลาต่อมา สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ได้สร้างวัด กุฏิและอุโบสถขึ้นบนภูเขา โดยมีกำแพงหินก่อลดหลั่นเจ็ดชั้น ให้ชื่อว่า “วัดสูงเกาะใหญ่” ในการสร้างอุโบสถนั้น ชาวบ้านเล่าว่าสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ได้นั่งสมาธิให้เกิดพลัง เพื่อยกก้อนหินขนาดใหญ่ไปวางเรียงกัน เรียกว่า "วิชาพลังเสือ" ทำให้ชาวบ้านบริเวณนี้ให้ความเคารพนับถือมาก จึงเรียกกันว่า “สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่” ภายหลังได้สร้างวัดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ชื่อว่า “วัดสูงทุ่งบัว” หลังจากท่านมรณภาพ ความเคารพนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ของท่านยังคงอยู่ยาวนานจนถึงปัจจุบัน
.....................................................…
จิราพร ทวีตา
งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ