มหาวิทยาลัยทักษิณเดินหน้าการขับเคลื่อน “ศูนย์การแพทย์แบบองค์รวม” ภายใต้วิสัยทัศน์ มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมระดับแนวหน้าของประเทศ หวังยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ และเสริมสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพแบบองค์รวมได้อย่างทั่วถึง ทั้งการดูแลสุขภาพที่บ้าน (Home Ward/Home Health Care) การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Care) การดูแลสุขภาพตนเอง (Self-care) และสุขภาพวิถีใหม่ (Wellness) การฟื้นฟูสุขภาพ (Rehabilitation) โดยผสานการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และแนวทางสุขภาพเชิงป้องกัน เพื่อรองรับความต้องการด้านสุขภาพที่หลากหลาย
ฝ่ายยุทธศาสตร์และประกันคุณภาพ จัดประชุมและแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนศูนย์การแพทย์แบบองค์รวม มหาวิทยาลัยทักษิณ ในวันนี้ (9 เมษายน 2568) ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ อาคารทักษิณาคาร มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เวทีการประชุมในครั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเป็นแรงผลักสำคัญสู่จุดเริ่มต้นใหม่ของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์การแพทย์แบบองค์รวมและโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ ที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐและความต้องการของสังคม ทั้งนี้มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มุ่งจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคน ด้านสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์/เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้วยหลักสูตร “วิชาการ” และ “วิชาชีพ” ให้ตอบสนองต่อการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ทั้งการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรใหม่ ที่ให้ความสำคัญสูง เน้นการเรียนรู้แบบองค์รวม การบูรณาการข้ามศาสตร์ และเป็นสหวิทยาการเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ สมรรถนะการพัฒนานวัตกรรมสังคม การเป็นผู้ประกอบการ การมีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 การมีชีวิตทางสังคมที่หลากหลาย
นายแพทย์สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ได้ชวนคิด ชวนคุยร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกับคณะผู้บริหาร และบุคลากร ในการขับเคลื่อนศูนย์การแพทย์แบบองค์รวม มหาวิทยาลัยทักษิณอย่างมีส่วนร่วมให้เป็นพื้นที่กลางของทุกคณะในการทำงานร่วมกัน และ Node เชื่อมโยงการเรียนรู้วิชาชีพระหว่างคณะต่าง ๆ และเครือข่าย เพื่อยกระดับสุขภาวะของประชาชนทุกกลุ่มอย่างมีส่วนร่วม
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ เน้นย้ำว่า ทิศทางการจัดตั้งศูนย์การแพทย์แบบองค์รวม มหาวิทยาลัยทักษิณ (TSU Holistic Medical Center) ที่เน้นระบบสุขภาพปฐมภูมิ (Primary care) ทั้งการดูแลสุขภาพที่บ้าน (Home Ward/Home Health Care) การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Care) การดูแลสุขภาพตนเอง (Self-care) และสุขภาพวิถีใหม่ (Wellness) การฟื้นฟูสุขภาพ (Rehabilitation) มุ่งเน้นและบูรณาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Medical Science) และด้านสังคมศาสตร์ (Social Science) เป็นสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล (Health For All Citizen)
โดยบทบาทของศูนย์การแพทย์แบบองค์รวม เป็นแหล่งเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic Learning) บูรณาการทฤษฎีและปฏิบัติ ผสมผสานความรู้เชิงวิชาการการปฏิบัติในสถานการณ์จริง แหล่งพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมสมรรถนะวิชาชีพ ทักษะการคิดเชิงระบบ การทำงานแบบสหวิชาชีพ และการสื่อสารกับผู้ป่วยและชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการสุขภาพ ภาวะผู้นำทางสุขภาพ และการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชุมชน ศูนย์กลางวิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมการทดลองและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรไทยและการผสมผสานองค์ความรู้จากหลายสาขาวิชา และเป็นสถานที่บ่มเพาะสุขภาวะเชิงรุกและการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ กล่าว
…...........................
ข่าว : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัย