การรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว : ศาสตร์พยาบาลต่อการจัดการสุขภาพ

การรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว : ศาสตร์พยาบาลต่อการจัดการสุขภาพ

4 เม.ย. 68 34

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดบ้าน ใช้พื้นที่คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น เป็นวงสนทนาชวนคณาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมพูดคุยในรายการ TSU Research (Thaksina) Cafe’ ตอนพิเศษ ในประเด็นร้อน “การรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว : ศาสตร์พยาบาลต่อการจัดการสุขภาพ”

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่เกิดจากกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลาประมาณ 13.20 น. ในประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ริกเตอร์ ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1,100 กิโลเมตร ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร ทำให้เกิดการสั่นไหวได้เป็นบริเวณกว้างในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน สภาพร่างกายและจิตใจ

การเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ที่ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น วันนี้ WE TSU ขอชวนทุกท่านร่วมเรียนรู้และค้นหาแนวทางในการรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว เพื่อความปลอดภัยและการดูแลที่ยั่งยืน จากผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาล คณาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หทัยรัตน์ แสงจันทร์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัณทร์ปภัสร์ เครือแก้ว, อาจารย์จณิศาภ์ แนมใส, อาจารย์ปุญณพัฒน์ ชำนาญเพาะ และอาจารย์อธิพงศ์ มุณีโน ผ่านทางรายการ TSU Research (Thaksina) Cafe’ ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โชคชัย เหมือนมาศ ผู้รักษาการแทนรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรม

  • เมื่อเกิดแผ่นดินไหวคนทั่วไปจะสามารถรับรู้ได้ทันทีหรือไม่ / มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการรับรู้แรงสั่นสะเทือน

อาจารย์อธิพงศ์ มุณีโน ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการรับรู้แรงสั่นสะเทือนของมนุษย์ ไว้ 3 ปัจจัย

1. ขนาดความรุนแรง หรือระดับริกเตอร์ ซึ่งสำคัญและเป็นตัววัดที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งแต่ละระดับจะส่งผลต่อร่างกายและการรับรู้ของมนุษย์ ยิ่งระดับสูง การรับรู้ก็ยิ่งมาก เช่น

ระดับต่ำกว่า 3 มนุษย์ยังไม่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน ต้องใช้เครื่องมือในการวัด

ระดับ 4 คนที่อยู่บนตึกสูง จะเริ่มรับรู้ แต่อาจจะยังแยกไม่ออกว่าเป็นอาการทางกาย หรือภัยพิบัติ

ระดับ 5 การรับรู้จะชัดเจน มีการเคลื่อนไหวของวัตถุ เช่น โคมไฟไหว สิ่งของตกหล่น มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งปลูกสร้าง

ระดับ 6 รุนแรงมากขึ้น จะเริ่มส่งผลต่อโครงสร้างของตึก อาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายและเกิดการเคลื่อนย้ายของพื้นดิน

ระดับ 7 ขึ้นไป เป็นความรุนแรงระดับภัยพิบัติ ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง การทำลายล้างสิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

2. จุดศูนย์กลางหรือความลึกของแผ่นดินไหว หากลึกลงไปมาก จะทำให้การรับรู้น้อยลง รวมทั้งการอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลาง การรับรู้ก็จะน้อยลงเช่นกัน

3. สถานที่อยู่อาศัยในขณะนั้น เช่น อาคาร ตึก จะเกิดการรับรู้ได้มากกว่าพื้นที่ราบด้านล่าง

นอกจากนี้ มนุษย์เรายังมีกลไกการปรับตัวของการทรงตัว ซึ่งจะมีการทำงานร่วมกันของระบบหูชั้นใน การรับรู้ทางกาย และสายตา เมื่อมีการเคลื่อนไหวตามปกติ สมองจะรับรู้การเคลื่อนไหวจากการขยับเคลื่อนของตัวเรา แต่ในกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวร่างกายของเราไม่ได้เคลื่อนไหวด้วยตัวเอง แต่เป็นการเคลื่อนของแผ่นดิน ซึ่งผิดปกติ หูชั้นในของเราจะรับรู้การสั่นสะเทือน แต่สายตาทำงานขัดแย้งกัน  ทำให้บางท่านเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด คล้ายเป็นลม

  • แยกไม่ออกว่าปัญหาสุขภาพหรือแผ่นดินไหว : จะมีสัญญาณหรืออาการอะไรที่ประชาชนควรสังเกตเพื่อประเมินสถานการณ์ในการรับมือและเอาตัวรอด

ผลกระทบต่อร่างกายจากแรงสั่นสะเทือน มีหลายคนคิดและเข้าใจไปว่าเกิดจากปัญหาสุขภาพ เช่น ความดัน เป็นอาการวูบ หรือคล้ายจะเป็นลม ทำให้ไม่ได้เอะใจหรือคิดไปถึงเรื่องแผ่นดินไหว เพราะฉะนั้นให้สังเกตสภาพแวดล้อมอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำกระเพื่อม โคมไฟไหว สิ่งของร่วงหล่น หรือสังเกตสัตว์เลี้ยงว่ามีความผิดปกติบ้างไหม เพราะสัตว์จะไวกับธรรมชาติมากกว่ามนุษย์

  • การเอาตัวรอดในเหตุการณ์แผ่นดินไหว

Drop –  Cover – Hold on” หรือ “ก้ม ย่อ – คลุม  – เกาะ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัณทร์ปภัสร์ เครือแก้ว ได้ให้แนวทางปฏิบัติเพื่อเอาตัวรออดหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอย่างกะทันหัน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ “ตั้งสติ” และให้จัดการตัวเองตามจุดที่ตัวเราอยู่ในขณะเกิดแผ่นดินไหว คือ

กรณีอยู่ในตึกสูง และวิ่งหนีไม่ทัน
ให้ยึดหลัก “ก้ม ย่อ (Drop) – คลุม (Cover) – เกาะ (Hold on)” คือ การก้ม หมอบ หรือย่อตัวลง ใช้สองมือประสานท้ายทอยเพื่อปกป้องศีรษะ คอ และกระดูกสันหลัง จากนั้นให้คลานไปอยู่ใต้โต๊ะ เก้าอี้ที่แข็งแรงและใช้มือยึดเกาะให้มั่น ห้าม!! อยู่ใกล้กระจก หรือผนัง นี่เป็นแนวปฏิบัติระดับสากลที่สามารถช่วยลดโอกาสบาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยเฉพาะในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วินาทีแรกที่มีแรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้นจากนั้นเมื่อสามารถลงจากตึกได้ ให้ใช้บันไดหนีไฟเท่านั้น เพราะหากเกิดอะไรขึ้น จะเป็นจุดแรกที่หน่วยกู้ภัยจะไปถึงเพื่อช่วยชีวิต

กรณีอยู่บนเตียง
หากหาที่ซ่อนตัวไม่ได้ให้อยู่บนเตียงและใช้หมอนคลุมศีรษะและท้ายทอย ไม่ควรรีบลุกขึ้น

กรณีอยู่ด้านนอกอาคาร
ให้หลีกเลี่ยงจุดที่อยู่ใกล้ตึกสูง ต้นไม้สูง หรือเสาไฟฟ้า รวมไปถึงแอ่งน้ำ เนื่องจากอาจจะมีสารเคมีที่ไหลมาจากหลายทิศทาง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย

กรณีอยู่ในรถ
ให้จอดรถ ดับเครื่อง และดึงเบรคมือ

  • การดูแลเยียวยาจิตใจ หลังเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายทางกายภาพ แต่ยังส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อจิตใจของผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์นั้นโดยตรง หรือแม้แต่ผู้ที่ติดตามข่าวสารผ่านสื่อ ทั้งความรู้สึกตื่นตระหนก กังวล หวาดกลัว หรือภาวะเครียดหลังเหตุการณ์ ล้วนเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ อาจารย์จณิศาภ์ แนมใส ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวการดูแลเยียวยาจิตใจ หลังเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหว ไว้ว่า การสูดหายใจเข้าลึกๆ เพื่อควบคุมสติ และช่วยลดความตึงเครียด นอกจากนี้จะต้องมีจัดการอารมณ์ ความรู้สึกแย่ๆให้หมดไปอย่างเร็วที่สุด คือ “ระบาย หรือ เอาออก” นั่นคือ ให้หาคนพูดคุย เพื่อระบายความรู้สึก ซึ่งมีความจำเป็นมาก และที่สำคัญคือการฝึกสร้าง และสั่งสมความเข้มแข็งด้านจิตใจ ด้วยทักษะชีวิต ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรับมือกับทุกสถานการณ์วิกฤติในชีวิตได้อย่างดี

  • การบริหารจัดการศูนย์พักพิง ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

อาจารย์ปุญณพัฒน์ ชำนาญเพาะ ได้ยืนยันความพร้อมทั้งบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือของ คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่จะสามารถใช้เป็นศูนย์พักพิงให้กับประชาชนชาวพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงในกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติ เนื่องจากเรามีคณาจารย์ที่เป็นพยาบาลวิชาชีพและมีนิสิตพยาบาลคุณภาพที่เป็นกำลังเสริมได้อย่างดี ปัจจุบันให้บริการรักษาโรคเบื้องต้น และการพยาบาลเบื้องต้น เช่น ทำแผล เย็บแผล ฉีดยา เป็นต้น

  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณกับการมีส่วนร่วม เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติให้กับสังคม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หทัยรัตน์ แสงจันทร์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ เล่าถึงการบริหารจัดการของการให้บริการที่สามารถทำได้ทันที คือ

คลินิกสปาใจ ซึ่งให้บริการด้านสุขภาพจิต ดูแลเยียวจิตใจให้กับนิสิต บุคลากร และบุคคลทั่วไป ในการรับฟัง และให้คำปรึกษา

เป็นสื่อกลางองค์ความรู้ที่ถูกต้อง แน่นอนว่า “ความรู้” จะช่วยลดความกังวลได้ดี ในความเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัยทักษิณ เราสามารถเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนและสังคม

 

.......................

งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ