ตะลึง! เอกนาฏศิลป์ไทย ม.ทักษิณ โชว์ของ ศิลปะการแสดงนิพนธ์ วิถีคนบก กินไข่ เลี้ยงเป็ด เดือน 11 ไปลากพระ

ตะลึง! เอกนาฏศิลป์ไทย ม.ทักษิณ โชว์ของ ศิลปะการแสดงนิพนธ์ วิถีคนบก กินไข่ เลี้ยงเป็ด เดือน 11 ไปลากพระ

31 มี.ค. 68 60

นิสิตชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 17 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สาขาศิลปะการแสดง วิชาเอกนาฏศิลป์ไทย ประจำปีการศึกษา 2567 จัดแสดงผลงานศิลปะการแสดงนิพนธ์ “วิถีคนบก กินไข่ เลี้ยงเป็ด เดือน 11 ไปลากพระ” นำเสนอเรื่องราววิถีคนบกในลุ่มทะเลสาบสงขลา กับ 3 ชุดการแสดงสุดอลังการ ไข่ครอบสงขลา, เป็ดลากูน และลุ่มน้ำศรัทธาบูชาพระลาก

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม 2568 นิสิตชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 17 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะการแสดง วิชาเอกนาฏศิลป์ไทย มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้จัดแสดงผลงานศิลปะการแสดงนิพนธ์สุดอลังการ ภายใต้ชื่อ “วิถีคนบก กินไข่ เลี้ยงเป็ด เดือน 11 ไปลากพระ” ณ Area36 Songkhla ถนนรามัญ-หนองจิก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา (โรงเรียนสตรีวชิรานุกูลเก่า) โดยได้รับความสนใจจากคณาจารย์ นิสิต ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชมอย่างคับคั่ง

ในการนี้ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีคณะผู้บริหาร คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์ นิสิต ผู้ปกครองและผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง บนพื้นที่ Area36 Songkhla ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคุณปีรัชด์ อนันตพันธ์ เจ้าของสถานที่ Creative Hub แห่งนี้

"การแสดงในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นแค่ผลงานศิลปะการแสดงนิพนธ์ของนิสิตชั้นปีที่ 4 แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมสังคมบนฐานศิลปะ วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรมและการยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยถ่ายทอดผลงานผ่านศาสตร์แห่งนาฏศิลป์ ซึ่งถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของไทย" รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง กล่าว

ซึ่งการแสดงศิลปะการแสดงนิพนธ์ครั้งนี้ได้สะท้อนวิถีชีวิตการดำรงชีวิตของคนบกในแนวสันทรายลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ทั้งอาหารการกิน ความเป็นอยู่ ภูมิปัญญา ความเชื่อ ความศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาด้วยการนำไข่ขาวของไข่เป็ดที่มีความเหนียวมาย้อมด้ายทำให้มีความแข็งแรงสามารถจับปลาได้มาก จากการใช้ไข่ขาวย้อมด้ายทำให้เหลือไข่แดงจำนวนมาก ชาวบ้านจึงได้คิดค้นวิธีการถนอมอาหาร ด้วยการแช่น้ำเกลือ นำไปนึ่งสุก เก็บไว้รับประทานได้นาน จึงเป็นที่มาของ "ไข่ครอบ" สืบต่อมารุ่นสู่รุ่น จนปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ตัวใหม่ของไทย

ส่วนชุดการแสดง “เป็ดลากูน” ถ่ายทอดเรื่องราวการเลี้ยงเป็ดของชาวบ้านที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน โดยอ้างอิงถึงบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงการส่งส่วยไข่เป็ดจากเมืองนครศรีธรรมราชไปยังชวา และวิถีของชาวบ้านที่เคยหาไข่เป็ดจากริมฝั่งทะเลสาบสงขลา

ปิดท้ายด้วยชุดการแสดง “ลุ่มน้ำศรัทธาบูชาพระลาก” ที่นำเสนอประเพณีลากพระ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสำคัญในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะการแห่พระที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “พระลาก” รวมถึงการกล่าวถึง “พระลากแม่ทวดยายสำลี” หรือ “แม่ทวดยายหฺมฺลี” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องที่มีความเชื่อมโยงกับตำนานเกี่ยวกับสตรีผู้มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างอาชีพและการทำนุบำรุงศาสนา

โชว์ในครั้งนี้สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งยังนำเสนอผ่านศิลปะการแสดงที่งดงามและทรงพลัง ทำให้ผู้ชมเข้าใจและซาบซึ้งในวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความศรัทธาของชาวบ้านในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี จึงนับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่สามารถถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมผ่านศิลปะการแสดงได้อย่างงดงามและทรงคุณค่า

 

……………………………............

ข่าวโดย : งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัย