เพราะการศึกษาคือแสงสว่างแห่งความหวัง  ภูริภัทร ทะเลลึก นักเรียนทุนโควตากลุ่มชาติพันธุ์

เพราะการศึกษาคือแสงสว่างแห่งความหวัง ภูริภัทร ทะเลลึก นักเรียนทุนโควตากลุ่มชาติพันธุ์

24 มี.ค. 68 379

เมื่อความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาทั่วโลก การมอบการศึกษา เพิ่มทุนมนุษย์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดช่องว่างทางสังคมและสร้างโอกาสให้ทุกคนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น มหาวิทยาลัยทักษิณจึงมุ่งมั่นสร้างการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง เปิดรับนิสิตจากกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนชายขอบ และกลุ่มเปราะบาง เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ผ่านระบบ TCAS รอบ Portfolio ในโครงการโควตาทุนนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มเปราะบาง ประจำปีการศึกษา 2568 จำนวนรวม 10 ทุน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หวังสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและลดช่องว่างทางสังคม

นายภูริภัทร ทะเลลึก ต้นกล้าแห่งชาติพันธุ์ชาวเล (อูรักลาโว้ย) จากเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ นักเรียนทุนชาติพันธุ์คนแรก ในโครงการโควตาทุนนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มเปราะบาง เมื่อต้นทุนชีวิตของแต่ละคนไม่เท่ากัน ในบางครั้ง อาจทำให้ยากต่อการเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ทางสังคม ทว่าสิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นความท้าทายในชีวิตที่ผลักดันให้ภูริภัทร ไม่ยอมแพ้ และยังมีหวังอยู่เสมอ เขาเชื่อมั่นว่า “การศึกษา” จะเป็นใบเบิกทางพาครอบครัวไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้เขามุมานะแสวงหาโอกาสทางการศึกษาอย่างไม่หยุดยั้ง

“โชคดีที่ครอบครัวเห็นคุณค่าของการศึกษา พ่อแม่ให้การสนับสนุนเต็มที่เท่าที่ยังไหว ในขณะที่คนในชุมชนรุ่นหนูส่วนใหญ่ไม่เรียนกันแล้ว จบสูงสุดแค่ชั้นประถม เพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ และคิดว่าออกมาทำงานหาเงินดีกว่า” ภูริภัทร กล่าว

แสงสว่างแห่งความหวัง

ภูริภัทร ทะเลลึก เล่าว่า แม้ครอบครัวจะให้การสนับสนุนเรื่องการเรียนเสมอมา แต่ด้วยรายได้จากงานรับจ้างทั่วไปของแม่ และอาชีพชาวประมงของพ่อ รวมถึงการหารายได้เสริมจากการรับจ้างเก็บยางพารา และเป็นพนักงานเสิร์ฟตามร้านอาหารของเขาก็แทบไม่พอใช้จ่าย การเรียนต่อในระดับปริญญาตรีจึงเปรียบเสมือนแสงอันริบหรี่ แต่แล้วโครงการโควตาทุนนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มเปราะบาง ของมหาวิทยาลัยทักษิณ ก็ได้สาดส่องแสงสว่างแห่งความหวังให้เข้ามาในชีวิตเขา

“หนูตั้งใจอยากเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง อยู่ก่อนแล้ว พอหาข้อมูล เห็นโควตาทุนกลุ่มชาติพันธุ์ก็รู้สึกเหมือนมีแสงสว่างส่องเข้ามาในชีวิต ตั้งใจเต็มที่ในการนำเสนอตัวตนและความตั้งใจที่จะเข้าศึกษาต่อในคณะพยาบาลผ่าน Portfolio และการสอบสัมภาษณ์ วันที่ทราบผลว่าสอบได้หนูร้องไห้กับแม่เลย ดีใจมากๆ” ภูริภัทร ทะเลลึก กล่าวด้วยความปลื้มปริ่ม

ความรัก ความตั้งใจ ในการเรียนพยาบาล

แม้ ภูริภัทร ทะเลลึก จะเติบโตมาท่ามกลางความเหลื่อมล้ำ แต่เขาก็พยายามขวนขวายเรื่องการศึกษาอย่างไม่ลดละและมีความฝัน ประสบการณ์ตรงที่เขาได้สัมผัสจากการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพพยาบาลในโรงพยาบาลอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ทำให้ได้เห็นถึงความอดทน ทุ่มเท และการมีหัวใจแห่งความเสียสละของพี่ๆ พยาบาล ในการช่วยเหลือดูแล รักษาผู้ป่วย และนั่นคืออีกหนึ่งแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ภูริภัทร มุ่งมั่นที่จะเป็นพยาบาลวิชาชีพ คอยดูแลผู้ป่วยด้วยใจรัก และจะปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียม

มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม มุ่งสร้างพยาบาลชุมชน รับใช้สังคม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หทัยรัตน์ แสงจันทร์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยยึดมั่นในปณิธานการเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม” และแน่นอนว่า นี่คือความมุ่งมั่น ตั้งใจของเรา

“คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณของเรา เปิดโอกาสรับผู้เรียนที่หลากหลาย เราต้องการสร้างพยาบาลชุมชน โดยเรียนรู้จากชุมชนเป็นฐาน เพื่อผลิตบัณฑิตคืนกลับสู่ชุมชน เราเชื่อมั่นว่าถ้าเขาได้เรียน ได้รู้ ได้เข้าใจความเป็นชุมชน พวกเขาจะกลับไปพัฒนาชุมชน และนี่จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยลดปัญหาการกระจุกตัวของพยาบาลวิชาชีพในเมืองใหญ่ได้ และนายภูริภัทร ทะเลลึก ก็เป็นนักเรียนผู้โดดเด่นทั้งผลการเรียน และกิจกรรม จากโรงเรียนลันตาราชประชาอุทิศ จังหวัดกระบี่ มีทัศนคติที่ดี มีจิตบริการ มีใจที่อยากช่วยเหลือ ดูแลคนอื่น ซึ่งเป็นคุณลักษณะข้อแรกของบัณฑิตพยาบาลที่พึงประสงค์ และวันนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณไม่เพียงแต่เปิดโอกาสทางการศึกษา แต่ยังสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเท่าเทียมสำหรับผู้เรียนทุกเพศสภาพ ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หทัยรัตน์ บอกเล่าด้วยความประทับใจ

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยทักษิณได้สร้างเส้นทางการศึกษาให้กับกลุ่มคนที่ขาดแคลน และด้อยโอกาส ใน 4 กลุ่มหลักๆ คือ 1) กลุ่มคนไทพลัดถิ่น ชาวเล ชาวมานิ คนสยามในมาเลเซีย ชนกลุ่มน้อย และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ 2) ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศไทย (ไม่เกิน 3,000 บาท/คน/เดือน) 3) ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ และ 4) กลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ที่คณะกรรมการเห็นสมควร โดยโครงการนี้จะยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตร โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องทำกิจกรรมของโครงการต่าง ๆ รวมแล้วไม่น้อยกว่า ปีการศึกษาละ 30 ชั่วโมง และที่พิเศษกว่านั้น โครงการนี้เป็นโครงการเดียวที่ยกเว้นค่าธรรมเนียมการสมัคร จำนวน 370 บาท และค่ายืนยันสิทธิ์เข้าศึกษา จำนวน 8,000 บาท

นี่จึงเป็นสิ่งยืนยันเจตนารมณ์ที่ชัดเจนสำหรับ มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการ “เปิดประตู สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษา” ให้กับเยาวชนในผืนแผ่นดินไทย เพราะเราเชื่อมั่นว่า “การศึกษาจะเปลี่ยนความเลือนราง เป็นแสงสว่างสู่อนาคต”

 

----------------------------------------------

จิราพร ทวีตา
งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัย

#ทุนการศึกษา #ลดความเหลื่อมล้ำ #สร้างโอกาส #ความเท่าเทียม #กลุ่มเปราะบาง #กลุ่มชายขอบ #ชาติพันธุ์ #ชาวเล #อูรักลาโว้ย #ฝ่ายวิชาการและการเรียนรู้ #TSUNEWS  #WeTSU #มหาวิทยาลัยทักษิณ