อาจารย์ต้นแบบระดับชาติ ผู้พัฒนาตัวเองไปสู่จุดหมาย

อาจารย์ต้นแบบระดับชาติ ผู้พัฒนาตัวเองไปสู่จุดหมาย

25 มี.ค. 68 745

เป้าหมายของมหาวิทยาลัยคือการสร้างคน และสร้างองค์ความรู้ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม การพัฒนาอาจารย์ในระดับอุดมศึกษาจึงจำเป็นและสำคัญต่อบทบาทในการสร้างสรรค์กระบวนการเรียนการสอนให้ตอบสนองความต้องการของยุคสมัย ฉะนั้น อาจารย์ไม่เพียงแต่จะต้องมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาของตนเอง แต่จำเป็นต้องมีความรู้และทักษะในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพด้วย

วันนี้ WETSU จึงอยากชวนเราไปพูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร.กนกพร สังขรักษ์ “อาจารย์ต้นแบบด้านการสอน ประจำปี พ.ศ. 2568” สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท)  ซึ่งจะช่วยชี้ทางให้มหาวิทยาลัยสามารถสร้างบัณฑิตที่มีทักษะและคุณสมบัติตามที่สังคมต้องการได้

อาจารย์ต้นแบบ สมาคม ควอท  คนแรกของ ม.ทักษิณ

รางวัลนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจในชีวิต ที่ผ่านมาได้รับรางวัลด้านวิจัยในระดับประเทศ รางวัลด้านนวัตกรรมในระดับนานาชาติมาจำนวนหนึ่งแล้ว รางวัลนี้เป็นรางวัลด้านการสอนระดับประเทศรางวัลแรกในชีวิต  
มันคือผลการพัฒนาสมรรถนะของตัวเอง ที่มีรางวัลเป็นผลพลอยได้ มันเป็นความภาคภูมิใจที่ไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่ยังเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว และมหาวิทยาลัยด้วย

เป็นรางวัลที่ไม่คาดคิดมาก่อน โดยส่วนตัวคิดว่าสาขาวิชาที่สอนอยู่มีความห่างไกลกับรางวัลด้านการเรียนการสอน แต่เมื่อทางมหาวิทยาลัยทักษิณให้โอกาสและมองเห็นว่าเรามีศักยภาพ ก็ตัดสินใจสู้สักตั้ง และเมื่อได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัย ก็ตั้งใจว่าต้องทำให้ดีที่สุด พอประเมินตัวเองก็พบว่า สิ่งที่ยึดถือปฏิบัติอยู่ก็เข้าข่าย ไม่ว่าจะเป็นความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ ที่กำลังรอโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์ และอยู่ในช่วงขอ Thailand PSF ระดับ 3 เราเองก็มีเทคนิค มีนวัตกรรมด้านการสอน  มีผลงานเผยแพร่ และตอนนี้ก็กำลังศึกษาเพิ่มเติมด้านการสอนวิทยาศาสตร์ ในคณะศึกษาศาสตร์ด้วย

เชื่อว่าการที่เราพัฒนาตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอนำทางเราไปสู่จุดหมายได้

คิดว่าอะไรที่ทำให้ได้รับรางวัลนี้

            แน่นอนว่า อาจารย์ทั้ง 7 ท่านที่ผ่านการพิจารณาจะต้องมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนและความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ ครั้งนี้พอได้ทบทวนตัวเองก็พบว่า จริงๆ แล้ว เราก็จัดการเรียนการสอนได้ดีแบบนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้รวบรวมออกมาในรูปแบบผลงานอย่างเป็นทางการ มหาวิทยาลัยทักษิณเองก็ส่งเสริมเราแบบครบวงจร โดยเฉพาะเรื่องการขอสมรรถนะด้านการสอน Thailand PSF (Professional Standard Framework) กรอบมาตรฐานวิชาชีพอาจารย์ตามแนวทางพัฒนาคุณภาพอาจารย์เพื่อส่งเสริมการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2566 ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาและเพิ่มพูนสมรรถนะการสอนด้วย

อีกทั้งมหาวิทยาลัยทักษิณยังสนับสนุนทุนวิจัยในชั้นเรียน รวมไปถึงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้อาจารย์นำนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนไปเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ  และทุกปีมหาวิทยาลัยจะมีการคัดเลือกบุคลากรตัวอย่างด้านการเรียนการสอน ซึ่งช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ ตรงนี้น่าจะเป็นฐานให้เราก้าวมาถึงรางวัลนี้ได้

 

ในทรรศนะ อาจารย์ต้นแบบต้องเป็นอย่างไร

เราต้องมีความเชี่ยวชาญทางด้านวิชาชีพ แล้วจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีที่หลากหลาย สามารถเชื่อมโยงความรู้ในศาสตร์ของตนกับศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้องได้ เอาเทคนิคต่างๆ มาประกอบและกำกับติดตามผลการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญต้องนำผลการวิจัยในชั้นเรียนมาพัฒนาการจัดการเรียนรู้ โดยผลการวิจัยในชั้นเรียนต้องมีการตีพิมพ์เผยแพร่ รวมถึงการมีจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอาจารย์รุ่นใหม่ ผ่านการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือช่วยชี้แนะ และถ่ายทอดศาสตร์การสอนและการเรียนรู้

 

มีส่วนร่วมในการพัฒนาอาจารย์รุ่นใหม่อย่างไรบ้าง

ที่ผ่านมาก็ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ช่วยพัฒนาอาจารย์รุ่นใหม่อยู่แล้ว ตัวเองมองว่า เรื่องการพัฒนาเพื่อนอาจารย์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราต้องดูแลกันตั้งแต่เริ่มต้น ไปจนถึงทำให้อาจารย์รุ่นใหม่สามารถจัดการเรียนการสอนและประเมินนิสิตได้จนจบสิ้นกระบวนการตลอดปีการศึกษา ทั้งการวางแผนการสอน ดูเนื้อหารายวิชา การจัดรูปแบบการเรียนการสอน วิธีการประเมินในแต่ละคาบเรียน รวมถึงเทคนิคการสอนต่างๆ ทั้งการออกข้อสอบ การตัดเกรด และหลังจากจบสิ้นกระบวนการในภาคเรียนนั้นๆ ก็ประชุมสรุปเพื่อทบทวนการทำงานที่ผ่านมา แล้วนำข้อด้อยต่างๆ ไปปรับปรุงเพิ่มเติมหรือแก้ไขในภาคเรียนถัดไป รวมถึงการเป็นพี่เลี้ยงเรื่องการขอตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดอาจารย์รุ่นใหม่ด้วย

อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าเทคนิคการจัดการเรียนการสอน

ขั้นแรกก็ต้องทำความเข้าใจว่าชีวเคมี คือการประยุกต์ใช้ความรู้เคมีและชีววิทยามาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา มันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ มีประโยชน์ในการนำมาใช้กับชีวิตประจำวันได้ รวมถึงเราสามารถนำความรู้ไปต่อยอดเพื่อแก้ปัญหาชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้

 อาจารย์ยึดหลักการสอนให้นิสิตเกิดความฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือ Scientific Literacy หมายถึง ทำให้ผู้เรียนมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์แล้วเอาความรู้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและการทำงานได้ ผ่านรูปแบบการเรียนการสอนแบบ “สืบ – เสาะ” การเรียนการสอนที่อาจารย์มีบทบาทหน้าที่ประเมินว่านิสิตมีความรู้พื้นฐานมากน้อยแค่ไหน และมีประเด็นใดที่พวกเขายังเข้าใจผิดอยู่ เพื่อเข้าไปเติมเต็มความรู้พื้นฐานและแก้ไขความเข้าใจผิดต่างๆ ให้ถูกต้อง

จากนั้นจึงใช้วิธีกระตุ้นความสนใจโดยการเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับสิ่งที่เขาสนใจ และได้เจอในวิถีชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการเชื่อมโยงกับความรู้ในศาสตร์ สาขา ที่เขาเรียนอยู่เพื่อให้เห็นประโยชน์ของการนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพ เช่น เรื่องสุขภาพ อาหาร ความสวยความงาม ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นความตระหนักรู้ให้กับผู้เรียน ทำให้เขาเห็นความสำคัญและเข้าใจในสิ่งที่เรียนว่าเกี่ยวข้องกับเขาอย่างไร ทั้งในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ

เรื่องนี้ตัวอย่างเช่น นิสิตพยาบาลศาสตร์ อาจารย์ก็จะเชื่อมโยงกับเรื่องการดูแลผู้ป่วย ถ้าเป็นนิสิตที่เรียนทางวิทยาศาสตร์อาหารและโภชนาการ (Food Science) ก็จะเอาไปเชื่อมโยงเรื่องสุขภาพและโภชนาการ เช่น การกิน
กลูตาไธโอนมีผลต่อเอนไซม์ เมตาบอลิซึม หรือต่อผิวพรรณอย่างไร หรือเชื่อมโยงกับการลดน้ำหนัก เช่น การทำ Intermittent Fasting (IF) ช่วยให้ผอมลงด้วยกระบวนการอย่างไร ถ้าเป็นนิสิตคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน ซึ่งเรียนเกี่ยวกับสัตวศาสตร์ เกี่ยวกับพืช เกี่ยวกับการเกษตร ก็จะเชื่อมโยงไปทางด้านการเกษตร เช่น เรื่องวัวชน ซึ่งเป็นที่นิยมในท้องถิ่น อาจโยงไปว่าทำไมต้องมีการจูงวัวออกกำลังกายตอนเช้า ทำไมต้องให้กินหญ้าที่มีโปรตีนสูง ซึ่งจะเน้นไปที่การตั้งประเด็นชวนคิดให้นิสิตไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง

            นิสิตได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ในการนำเอาประเด็นต่าง ๆ ไปสืบเสาะ หาความรู้ด้วยกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ได้ความรู้มาตอบในสิ่งที่พวกเขาสนใจ จากนั้นนำมาอภิปรายแลกเปลี่ยนกันในชั้นเรียน อาจารย์จะคอยดูแลให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ผลลัพธ์ก็คือนิสิตจะได้องค์ความรู้ใหม่ไปต่อยอดกับองค์ความรู้เดิมและนำไปใช้ได้จริง เกิดความฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ

มาถึงวันนี้คิดว่ามาถูกทางหรือยัง

มีนิสิตอยู่คนหนึ่งบอกว่า เขาไม่เคยชอบวิชาเคมีมาก่อนเลย เพราะรู้สึกว่ายาก แต่เมื่อได้มาเจอรูปแบบการสอนที่เราทำอยู่ทำให้เขากลับมามีกำลังใจ อยากเรียนวิชาเคมีขึ้นมา แม้ไม่ได้ A แต่รู้สึกชอบและสนุก เหล่านี้จะเป็นแรงขับในการเรียนวิชาเคมีต่อ ๆ ไป รวมถึงวิชาอื่นด้วย ถ้าการสอนของอาจารย์จะช่วยให้นิสิตเปิดใจ และทำให้นิสิตเรียนได้ดี อาจารย์ก็ดีใจที่ได้สร้างกำลังคนทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมา

คิดว่าเรามาถูกทางนะ  อาจารย์จะสังเกตจากการตอบสนองต่อการเรียนการสอน ดูว่านิสิตสามารถนำความรู้ในชั้นเรียนไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้มากน้อยแค่ไหน ไปจนถึงการได้รับรางวัลจากกิจกรรมต่าง ๆ หรือความก้าวหน้าในอาชีพ ได้ทำงานในต่างประเทศ และทุกครั้งที่ได้อ่านการประเมินการสอนจากนิสิตในทุกภาคเรียน ก็เป็นกำลัง เป็นพลังบวกอย่างดีให้เรา มันช่วยยืนยันว่า สิ่งที่มุ่งมั่นตั้งใจและกำลังทำอยู่ เรามาถูกทางแล้ว

........................................................................................

จิราพร  ทวีตา : เรื่อง

ปรเมศวร์  กาแก้ว : ภาพ

งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

........................................................................................

#อาจารย์ต้นแบบด้านการสอน #สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย #ควอท #ThailandPSF #มาตรฐานวิชาชีพอาจารย์ #คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล #SCIENCE #TSUNEWS #มหาวิทยาลัยทักษิณ #WeTSU