เปิดบ้านเหลียงใบใหญ่ 231 ครัวเรือน ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน พัทลุงโมเดล

เปิดบ้านเหลียงใบใหญ่ 231 ครัวเรือน ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน พัทลุงโมเดล

19 มี.ค. 68 545

"ผักเหลียงใบใหญ่" ราชินีผักพื้นบ้านที่มีถิ่นกำเนิดจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในป่าฝนเขตร้อนชื้น ถูกนำมาเชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง สร้างการรวมกลุ่มปลูกเหลียงพันธุ์ใบใหญ่แปลงใหญ่สำหรับกลุ่มที่มีพื้นที่ทำการเกษตร และสร้างการจ้างงานให้กลุ่มที่ไม่มีพื้นที่ รวมถึงกลุ่มเปราะบางให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งยังนำเทคโนโลยีพร้อมใช้จากมหาวิทยาลัยมาปรับใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อให้คนมีรายได้น้อยสามารถเพิ่มพูนรายได้ เกิดการจ้างงาน ส่งต่อเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายสินธุ์แพรทอง ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ได้จัดกิจกรรม "เปิดบ้านเหลียงใบใหญ่ 231 ครัวเรือน" ภายใต้โครงการ "เหลียงใบใหญ่โมเดลแก้จน คนศรีนครินทร์" โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวรายงาน และ นายธราวุธ ช่วยเกิด รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเปิดงาน

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดวิจัยเรื่อง "พัทลุงโมเดล: การวิจัยและนวัตกรรมสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ" นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา พนมจันทร์ และคณะทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ววน. และหน่วยบริหารงาน บพท. มีเป้าหมายส่งเสริมการปลูกและแปรรูปผักเหลียงพันธุ์ใบใหญ่ เป็นพืชแซมสวนยางพาราและไม้ผล เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างงานในชุมชน

กิจกรรมภายในงานมีทั้งการเสวนาทิศทางการแก้ปัญหาความยากจนของภาคีเครือข่าย บูธผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผักเหลียง เช่น ผักเหลียงอบกรอบ ไอศกรีม ข้าวเกรียบ และสบู่ การส่งมอบเตาเผาไบโอชาร์ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ฐานกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ การทำปุ๋ยหมักไบโอชาร์ เยี่ยมชมแปลงปลูกผักเหลียงแบบพืชร่วม การแปรรูปผักเหลียงเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย การประกวดเมนูสร้างสรรค์จากเหลียงใบใหญ่ ทั้งเมนูคาวและหวาน รวมถึงเมนูต้มกะทิแบบดั้งเดิม

  

โครงการดังกล่าวส่งผลประโยชน์เชิงวิชาการ นำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาพัฒนาคู่มือและเผยแพร่ในระดับชาติและนานาชาติ  เชิงเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพของชุมชน สร้างอาชีพ และขยายโอกาสสร้างรายได้ เชิงสังคม ยกระดับทักษะ Reskill/Upskill ให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืน  เชิงสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้แหนแดงแทนปุ๋ยเคมี ลดการเผาเชื้อเพลิง และพัฒนาแนวทางการขอรับรองคาร์บอนเครดิต  เชิงนโยบาย สร้างมาตรฐานให้ผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นพัทลุง พร้อมขยายผลด้านเศรษฐกิจและความเข้มแข็งของชุมชนตามแนวทาง SDGs เป้าหมายที่ 8: การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม ทั้งนี้ "เหลียงใบใหญ่โมเดล" ไม่เพียงช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน แต่ยังเป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการบูรณาการวิจัย เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนศรีนครินทร์

............
ข่าว : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ