ศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “แนวทางการจัดการทางคาร์บอนและปฏิบัติการการหาปริมาณการกักเก็บคาร์บอน” ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน โดยมีคณาจารย์ นักเรียน นิสิต และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมโครงการอย่างมากถึง 105 คน เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 ณ ห้อง TSU Innovation Showcase ชั้น 1 อาคารศูนย์เครื่องมือกลาง มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการจัดการคาร์บอน ฝึกปฏิบัติการหาปริมาณการกักเก็บคาร์บอน ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการเรียนการสอน และพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2569) ซึ่งมหาวิทยาลัยทักษิณเป็นหน่วยงานประสานงานหลักในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรนาฏ คิดดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์อานุช คีรีรัฐนิคม สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และอาจารย์ ดร.ณภัทร แก้วภิบาล หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล พร้อมด้วย นางสาวชามาดา ชัยเจริญ และ นายพันธสิทธิ์ โชคสวัสดิกร เป็นผู้ช่วยวิทยากร
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณได้รับอนุมัติจัดตั้งศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) โดยมีเป้าหมายหลักในการสนองพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชอัน เนื่องมาจากพระราชดําริฯ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากร และเพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพืชและภูมิปัญญา การใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตประจําวันของคนในท้องถิ่น พร้อมทั้งสร้างจิตสํานึกและความตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรชีวภาพและกายภาพในท้องถิ่น อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนแก่ท้องถิ่น
นอกจากนี้ การอบรมในครั้งนี้ช่วยสร้างการตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งเสริมการนำเทคโนโลยี เช่น Application และ Clinometer มาใช้ในการคำนวณปริมาณการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนและขยายผลสู่ชุมชนและจะเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป
.....................................
ข่าว : ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยทักษิณ