ม.ทักษิณปลื้ม ผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศระดับสากล

ม.ทักษิณปลื้ม ผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศระดับสากล

17 เม.ย. 68 54

มหาวิทยาลัยทักษิณ ผ่านการรับรองรายงานการประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2568 จากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ตามกรอบแนวทาง World-class Organization Excellence Framework ซึ่งมุ่งเน้นการบริหารจัดการเพื่อความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถาวร จันทโชติ  รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณได้มอบหมายให้สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เป็นหน่วยงานประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษา โดยได้ยื่นความประสงค์ในการตรวจประเมินรูปแบบการตรวจประเมินความสอดคล้องกับมาตรฐานการอุดมศึกษา ด้วยรายงานการประเมินตนเองตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (Education Criteria for Performance Excellence: EdPEx) และรายงานการตรวจประเมินคุณภาพภายใน (Feedback Report) ใช้ข้อมูลจากปีการศึกษา 2566 พร้อมลงพื้นที่ตรวจประเมินจริง เมื่อวันที่ 14 - 15 ตุลาคม 2567

โดยการตรวจประเมินคุณภาพภายนอกนี้ มีการดำเนินการประเมินต่อเนื่องถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ได้บัญญัติให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุก 5 ปี ส่วนการประเมินคุณภาพภายนอกอาจประเมินโดยหน่วยงานต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง หรืออาจประเมินโดยหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคเอกขน หรือหน่วยงานในต่างประเทศที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาประกาศกำหนดก็ได้ โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้รายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอก ของมหาวิทยาลัยทักษิณ ระบุว่า
     1) ผลการดำเนินงาน ของมหาวิทยาลัยทักษิณ มีความสอดคล้องกับมาตรฐานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา 
     2) ผลการตรวจประเมินระดับพัฒนาการตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TOA) และ/หรือเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEX)
สำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษา โดยสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ มุ่งสนับสนุนการยกระดับมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศในเวทีระดับสากล ใช้กรอบแนวคิด "World-class Organization Excellence Framework" ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากกรอบคุณภาพระดับโลก ตลอดจนส่งเสริม และพัฒนาสถาบัอุดมศึกษาอย่างรอบด้าน ทั้งในด้าน ภาวะผู้นำ กลยุทธ์ ผู้รับบริการ การดำเนินงาน และ ผลลัพธ์ทางองค์กร โดยมุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

  

การประเมินในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการตรวจสอบ แต่ยังเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้มหาวิทยาลัยพัฒนาการบริหารจัดการอย่างรอบด้าน ส่งเสริมการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้เรียน ผู้ปกครอง หน่วยงานรัฐ และต่างประเทศ  และสามารถเชื่อมโยงการบริหารจัดการกับพันธกิจทางวิชาการภายใต้ยุทธศาสตร์หลักของมหาวิทยาลัย เช่น การเรียนการสอน   การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านเทคโนโลยี การแข่งขันระดับโลก ความคาดหวังของสังคม รวมถึงการเตรียมพร้อมยกระดับมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศระดับนานาชาติต่อไป

................................

ข่าว : งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัย