ทำไมช้างจึงสามารถรับรู้แผ่นดินไหวก่อนมนุษย์ได้?

ทำไมช้างจึงสามารถรับรู้แผ่นดินไหวก่อนมนุษย์ได้?

16 เม.ย. 68 104

จากข่าวไวรัลเหตุการณ์แผ่นดินไหว 5.2 แมกนิจูดในแคลิฟอร์เนีย มีจุดศูนย์กลางลึกลงไปใต้ดิน 13.4 กิโลเมตร ทำให้ช้างตัวเต็มวัยในสวนสัตว์ซานดิเอโกเกิดพฤติกรรมวิ่งล้อมช้างที่อายุน้อยกว่า ทำให้ชวนตั้งคำถามว่าพฤติกรรมดังกล่าวคืออะไร? และช้างรับรู้แผ่นดินไหวก่อนมนุษย์ได้จริงหรือ?

อาจารย์ ดร.อัคนี ผิวหอม คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้อธิบายว่า จากที่ทุก ๆ คนทราบว่าช้างเป็นสัตว์สังคมซึ่งมีความผูกพันธ์กันในฝูง ดังนั้นเมื่อมีอันตรายเกิดขึ้นจากสาเหตุใดก็ตาม การปกป้องฝูงจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้น ช้างสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนผ่านฝ่าเท้า บางครั้งช้างจะรวมตัวกันเป็นวงกลม โดยมีลูกช้างหรือช้างอายุน้อยอยู่ตรงกลางและช้างตัวเต็มวัยจะหันหน้าออกด้านนอก กวาดสายตา หูกางออกและกระพือหู ซึ่งเป็นพฤติกรรมการระวังภัยเพื่อปกป้องฝูง โดยพฤติกรรมนี้เรียกว่า “วงเตือนภัย” หรือ “จับกลุ่มระวังภัย” (alert circle) มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องลูกจากภัยคุกคาม หากมั่นใจว่าปลอดภัยแล้ว จึงค่อยแยกย้ายใช้ชีวิตกันตามปกติ

ภาพจาก : https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_9719660

ช้างและสัตว์อื่น ๆ รับรู้การเกิดแผ่นดินไหว หรือรับรู้ก่อนมนุษย์ได้อย่างไร?
ก่อนเกิดแผ่นดินไหว จะมีคลื่นสั่นสะเทือน 2 แบบที่ปล่อยออกมาจากศูนย์กลางของแผ่นดินไหว คือ คลื่น P (primary waves) เป็นคลื่นเคลื่อนที่เร็ว แต่ไม่รุนแรงและคลื่น S (secondary waves) เป็นคลื่นที่เคลื่อนที่ช้า แต่ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนหนัก โดยมนุษย์จะรับรู้แผ่นดินไหวตอนที่คลื่น S มาถึง ขณะที่สัตว์สามารถรับรู้ถึงคลื่น P ได้ก่อนที่คลื่น S จะมาถึง เพราะมีประสาทสัมผัสที่ไวต่อแรงสั่นสะเทือน ทำให้สัตว์แสดงพฤติกรรมผิดปกติจากที่เคย เช่น เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2011 เกิดแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ที่รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อนเกิดแผ่นดินไหว ลิงในสวนสัตว์ทิ้งอาหารและรีบปีนขึ้นที่สูง หรือช้างไม่ยอมออกมากินอาหาร ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวกล่าวว่า “สัตว์สามารถรับรูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและแรงสั่นสะเทือนในช่วงเกิดแผ่นดินไหวได้ จึงทำให้เกิดการตอบสนองด้วยพฤติกรรมต่าง ๆ” ปกติช้างจะสื่อสารกันผ่านแรงสั่นสะเทือน (seismic หรือ vibration communication) โดยส่งคลื่นเสียงความถี่ต่ำผ่านอากาศไปยังพื้นดิน ซึ่งคลื่นเสียงความถี่ต่ำของช้าง (elephant rumble) มีช่วงความถี่ 15-35 Htz ซึ่งพลังงานแผ่นดินไหวมีช่วงความถี่ 10-40 Htz ซึ่งอยู่ในช่วงเดียวกับความถี่ที่ช้างสามารถรับรู้ได้ โดยช้างสามารถตรวจจับสัญญาณแผ่นดินไหวนี้ผ่านตัวรับแรงกล (สั่นสะเทือน) เรียกว่า Pacinian corpuscles ในผิวหนังชั้นหนังแท้ของเท้า หรือปลายงวง จึงทำให้ช้างสามารถรู้ล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวและก่อนที่มนุษย์จะรู้สึกได้

อ้างอิง
https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_9719660
เพจ Center of Elephant and Wildlife Health FVM CMU
Bouley, D.M., Alarcón, C.N., Hildebrandt, T. and O’Connell-Rodwell, C.E. (2007). The distribution, density and three-dimensional histomorphology of Pacinian corpuscles in the foot of the Asian elephant (Elephas maximus) and their potential role in seismic communication. J. Anat. 211, 428–435.