คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณ จับมือ FANUC ยกระดับการเรียนรู้หุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณ จับมือ FANUC ยกระดับการเรียนรู้หุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม

21 มี.ค. 68 135

นิสิตและคณาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณ อบรมเข้ม หุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม (FANUC) ยกระดับทักษะสู่อุตสาหกรรมอนาคต

  

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “หุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม (FANUC)” เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะการใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติให้กับนิสิตและคณาจารย์ โดยได้รับเกียรติจาก คุณจิรัตน์ ต่อรัตนวัฒนา วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรม จากสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ พร้อมด้วยทีมงานจาก บริษัท วัฒนา แมชชีนเทค จำกัด

การอบรมครั้งนี้จัดขึ้นที่ อาคารเฉพาะทางวิศวกรรมศาสตร์ ภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ  วิทยาเขตพัทลุง โดยมีเนื้อหาครอบคลุมเรื่อง เทคโนโลยีหุ่นยนต์อุตสาหกรรม การควบคุมการทำงาน และการซ่อมบำรุงรักษา ซึ่งเป็นองค์ความรู้สำคัญในการพัฒนาแรงงานด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล สำหรับหุ่นยนต์แขนกลมีความสำคัญต่อธุรกิจอุตสาหกรรมและรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต  ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค Industry 4.0 และ Smart Factory ที่มุ่งเน้นการใช้ ระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มความแม่นยำในการทำงานของเครื่องจักร ซึ่งในปัจจุบัน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มุ่งเป้าในการพัฒนาทักษะอุตสาหกรรมอนาคตโดยการพัฒนาหลักสูตรและองค์ความรู้ที่ทันสมัยเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มีการจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำในการพัฒนาหลักสูตรที่ตรงตามความต้องการของตลาด

รองศาสตราจารย์ ดร.จตุพร แก้วอ่อน  คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวถึงความสำคัญของการฝึกอบรมในครั้งนี้ว่า "เราต้องการให้นิสิตของเรามีความพร้อมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมจริง รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจในการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ”

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มีแผนในการต่อยอดความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมผ่านโครงการฝึกอบรมเชิงลึก การทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ และการพัฒนาศูนย์นวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมไทยในอนาคต

......................

ข่าว : คณะวิศวกรรมศาสตร์