มหาวิทยาลัยทักษิณเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับสังคมพหุวัฒนธรรมด้วยโครงการก่อสร้าง “ทักษิณาธรรมสถาน” (TSU Prayer Zone) ณ วิทยาเขตพัทลุง เพื่อเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจและศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันของนิสิตและประชาคมในพื้นที่
มหาวิทยาลัยทักษิณเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับสังคมพหุวัฒนธรรม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 11: Sustainable Cities and Communities) ด้วยโครงการก่อสร้าง “ทักษิณาธรรมสถาน” (TSU Prayer Zone) ณ วิทยาเขตพัทลุง เพื่อเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจและศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันของนิสิตและประชาคมในพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย “ก้าวที่กล้า 10 คานงัดใหม่ มหาวิทยาลัยทักษิณ” ในการสร้างระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสนับสนุน “โลกชีวิตในมหาวิทยาลัย” (Campus Life) การพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เป็นมหาวิทยาลัยน่าอยู่ กระตุ้นการเรียนรู้ด้วยพื้นที่สร้างสรรค์ ในหลากหลายรูปแบบ
โครงการ “TSU Prayer Zone” มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างสถานที่ประกอบศาสนากิจ และเป็นศูนย์รวมของสังคมพหุวัฒนธรรมบนพื้นที่กว่า 5 ไร่ หรือประมาณ 8,000 ตารางเมตร โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2569 ประกอบด้วยอาคาร 2 หลัง มีรูปแบบอาคารที่เอื้อต่อการปฏิบัติศาสนกิจโดยเฉพาะ
อาคารปฏิบัติธรรมศาสนาพุทธ : การออกแบบอาคารใช้สัญลักษณ์ของ “ดอกบัว” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญในพุทธศาสนา ดอกบัวที่แยกเป็นกลีบต่าง ๆ หมายถึง คำสอนที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้ ซึ่งสะท้อนถึงความลึกซึ้งและความบริสุทธิ์ของหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา
อาคารละหมาดศาสนาอิสลาม : อาคารมีลักษณะทรงกลม หมายถึงความเป็นสากลและรอบด้าน รูปทรงของอาคารได้รับแรงบันดาลใจจาก “ข้อง” (ที่ใส่ปลา) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดพัทลุง ส่วนหลังคาของอาคารมีลักษณะ เอียงไปทางทิศตะวันตก (ทิศกิบลัต) หันไปทางเมืองเมกกะ เพื่อแสดงถึงความนอบน้อมและความเคารพต่อพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาอิสลาม
สำหรับแนวคิดการออกแบบอาคารเน้นการ ใช้รูปทรงทางสถาปัตยกรรมภายใต้แนวคิด Globalization การเป็นศูนย์รวม คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน เป็นอาคารที่มีรูปทรงเรียบง่ายเน้นความโล่ง โปร่ง สบาย อากาศถ่ายเทสะดวก ลมพัดผ่านได้ทุกทิศทาง สงบ ร่มเย็น มีระบบการไหลเวียนของอากาศทั้งภายในและภายนอกอาคาร ที่สำคัญเป็นอาคารประหยัดพลังงาน และมีการออกแบบเพื่อรองรับผู้พิการตามหลักสากล โดยเน้นการศูนย์กลางทางศาสนาและชุมชน นอกเหนือจากการปฏิบัติศาสนกิจแล้ว ยังใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการจัดกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ จึงเปรียบเสมือนพื้นที่กลางของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันภายใต้สังคม
พหุวัฒนธรรม
อาคารทั้งสองตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกของคณะวิศวกรรมศาสตร์ แวดล้อมด้วยบรรยากาศที่สงบ เอื้อต่อการปฏิบัติธรรมและศาสนกิจ นอกจากนี้ภูมิทัศน์โดยรอบยังมีการออกแบบให้เอื้อกับการใช้งาน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้นิสิตได้ปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างสะดวกสบาย อาทิ ลานจอดรถ ห้องน้ำ พื้นที่สำหรับอาบน้ำละหมาด และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมในการปฏิบัติศาสนากิจ เป็นอาคารที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ เพราะมหาวิทยาลัยทักษิณ ตระหนักถึงการดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
...................................
ข่าว : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัย