เมื่อ “นักเดินทางพันกิโลเมตร” ฝูงใหญ่บินอพยพมายังอุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า จ.พัทลุง สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักดูนกและนักอนุรักษ์ หลังนกหายากชนิดนี้กำลังถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ ชี้บทบาทสำคัญในฐานะ “ผู้กระจายเมล็ดพันธุ์” ตัวแทนความสมบูรณ์ของผืนป่า
ใครที่ติดตามข่าวไวรัลช่วงนี้ คงได้เห็นข่าวที่สร้างความตื่นเต้นให้กับนักชีววิทยา นักดูนกและคนที่สนใจทางด้านนี้ นั่นคือ ข่าวของนกเงือกกรามช้างปากเรียบฝูงใหญ่ที่บินอพยพผ่านมาแวะพักที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า จังหวัดพัทลุง ซึ่งเหตุการณ์นี้แม้จะเป็นเหตุการณ์อพยพที่เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่สำหรับครั้งนี้นับเป็นการอพยพของนกฝูงใหญ่มาก จึงสร้างความตื่นตาและตื่นเต้น
หลังจากช่วงผสมพันธุ์ นกเงือกกรามช้างปากเรียบจะอพยพเพื่อหาอาหาร ซึ่งการอพยพนี้ (ประมาณกรกฎาคม–กันยายน) จะมีการบินอพยพจากพื้นที่อนุรักษ์ในไทยไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Belum–Temengor ประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 1,000 กิโลเมตร หรือไปยังป่าฮาลา-บาลา แล้วนกเงือกกรามช้างปากเรียบ หรือ “นักเดินทางพันกิโลเมตร” มีข้อมูลและความสำคัญยังไง เรามาทำความรู้จักกับนกที่สวยงามนี้กัน
นกเงือกกรามช้างปากเรียบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhyticeros subruficollis เป็นนกเงือกขนาดใหญ่ที่พบเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นของพม่า ไทย และมาเลเซีย และพบได้ในป่าดิบชื้นระดับต่ำของไทย (เฉพาะภาคใต้ และตะวันตก เช่น พัทลุง ยะลา ตาก) เป็นนกที่มีปากขนาดใหญ่สีเหลืองอมส้ม เรียบ ไม่มีโหนก ตัวผู้มีถุงคอสีเหลือง ส่วนตัวเมียมีถุงคอสีฟ้า ความยาวลำตัวประมาณ 90–100 เซนติเมตร และน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 2.5–3.5 กิโลกรัม เป็นนกผัวเดียวเมียเดียว มีฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน โดยตัวเมียจะเลือกโพรงไม้ใหญ่ในการวางไข่
แล้วทำไมนกเงือกจึงน่าสนใจและควรให้ความสำคัญ ?
เพราะนกเงือกมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศป่าไม้ โดยมีฐานะเป็น "ผู้กระจายเมล็ดพันธุ์" และแสดงถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศของป่านั้น ๆ
สถานะเป็นอย่างไรในปัจจุบัน ?
ประชากรของนกชนิดนี้กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการสูญเสียถิ่นอาศัยและการรบกวนจากกิจกรรมมนุษย์ โดยสถานภาพตาม IUCN คือ ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered, EN) มีประชากรทั่วโลกราว 13,000–27,000 ตัว (BirdLife International, 2024)
ดังนั้น ความสำคัญของนกเงือกกรามช้างปากเรียบไม่ใช่เป็นเพียงแค่ “นก” เท่านั้น แต่เป็นนกที่เป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างผืนป่า ส่งต่อประโยชน์นี้ให้กับสัตว์ชนิดอื่น ๆ อีกมากมายและเป็นนกที่ “สร้างความสุข” ให้กับพวกเรา นั่นเอง
อ้างอิง
BirdLife International. (2024). Species factsheet: Rhyticeros subruficollis.
Mudappa, D. & Raman, T.R.S. (2009). Hornbills and seed dispersal in tropical forests: A review.
Chaiyan Kasorndorkbua et al. (2023). GPS tracking of plain-pouched hornbills reveals long-
distance migration routes in Southeast Asia.
IUCN Red List of Threatened Species. (2024). Rhyticeros subruficollis assessment.
เรียบเรียงบทความ : อาจารย์ ดร. อัคนี ผิวหอม
อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ
ภาพโดย : คุณกฤษดา สุวรรณการณ์ คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ