ท่ามกลางกระแสความหลากหลายทางเพศที่เริ่มได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคมไทย “ความเท่าเทียม” ไม่ใช่เพียงคำพูดสวยหรู แต่คือหลักการสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรีและเคารพในความแตกต่าง
มหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะพื้นที่แห่งการเรียนรู้และพัฒนาคนรุ่นใหม่ ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมของทุกเพศสภาพอย่างชัดเจน ด้วยความเชื่อว่า “ทุกคนมีคุณค่าในแบบของตนเอง และไม่มีใครควรถูกตัดสินจากเพศสภาพหรือวิถีชีวิต”
เสียงจากผู้บริหาร: “เมื่อมหาวิทยาลัยให้เกียรตินิสิต สังคมในอนาคตก็จะดีขึ้น”
ผศ.นพดล ศุกระกาญจน์
รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการสภามหาวิทยาลัย
กล่าวกับเราว่า
“มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งบ่มเพาะปัญญาชนของประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าเราเคารพสิทธิความเท่าเทียม โดยเฉพาะเรื่องของความเท่าเทียมระหว่างเพศ เมื่อมหาวิทยาลัยให้โอกาสและให้เกียรตินิสิตในการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างเท่าเทียม เมื่อเขาจบออกไปแล้ว มหาวิทยาลัยก็คาดหวังว่าบัณฑิตจะได้นำหลักการเหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันและในบทบาทต่าง ๆ ที่พวกเขาจะมีในสังคมต่อไป”
เสียงจากนิสิต: จากความไม่กล้า…สู่พลังในการเป็นตัวเอง
จิตรทิวัส (สเก็ต)
นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล
“แต่ก่อนผมไม่กล้าพูดว่าตัวเองเป็นใคร กลัวการถูกตัดสิน มันทำให้เราขาดความสุข พลาดโอกาส จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า แต่วันหนึ่งผมได้ยินคำว่า ‘คนเราเกิดมาใช้ชีวิตแค่ประมาณ 20,000 วัน’ มันเปลี่ยนความคิดของผม ผมเริ่มเดินเข้าหาโอกาส กล้าเป็นตัวเอง และเข้าใจว่า ถ้าเรามีเป้าหมาย เราต้องเริ่มทันที ความมั่นใจจะตามมาเองครับ”
เมื่อคำบูลลี่กลายเป็นพลัง
พัชรพล (ปาร์ตี้)
นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล
“ในยุคนี้ยังมีการบูลลี่กันอีกเยอะค่ะ แต่หนูเลือกที่จะไม่เก็บคำพูดพวกนั้นมาใส่ใจ หนูเอามาเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตัวเอง หนูแต่งหน้า แต่งตัวในแบบที่หนูรู้สึกดีและมั่นใจ เพราะหนูรู้ว่าความสุขมันเริ่มจากการยอมรับในตัวเอง”
ความมั่นใจ...คือพลังสร้างความเปลี่ยนแปลง
เอกอนงค์ (ฮานา)
นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะศึกษาศาสตร์
“หนูมั่นใจในตัวเอง หนูไม่แคร์ว่าใครจะมองยังไง ถ้าเราไม่ได้ทำร้ายใคร หนูอยากให้ทุกคนกล้าที่จะเป็นตัวเอง และเคารพสิทธิของคนอื่น เพราะความแตกต่างไม่ใช่อุปสรรค ถ้าเรายอมรับและอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพ”
“ความเท่าเทียม” ไม่ใช่สิ่งที่ใครต้องขอ แต่มันคือสิ่งที่ทุกคน ‘ควรได้รับ’
เราทุกคนมีสิทธิในการแสดงออก มีสิทธิในความเป็นส่วนตัว และมีสิทธิในการใช้ชีวิตในแบบที่เราเลือก ตราบใดที่ไม่ละเมิดผู้อื่น การเปิดใจ ยอมรับความหลากหลาย และส่งเสริมพื้นที่ปลอดภัย คือรากฐานของสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
เพราะเมื่อเราให้เกียรติผู้อื่น เราก็กำลังให้เกียรติตัวเอง
ร่วมกันสร้างสังคมที่เข้าใจ เคารพ และเห็นคุณค่าของกันและกันอย่างแท้จริง
-----------------------------
โดย: วรณัน เอกหิรัณยราษฎร์
งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยทักษิณ