มหาวิทยาลัยทักษิณ ชูงานวิจัย “ชันโรง” ร่วมแสดงผลงานวิจัยในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568 (Thailand Research Expo 2025) ภายใต้แนวคิด “Research for All: เชื่อมต่ออนาคตไทย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” นำเสนอองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์จริงในระดับชุมชนและประเทศ ระหว่างวันที่ 16–20 มิถุนายน 2568 ณ ศูนย์การประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ในปีนี้มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรม ได้ยกผลงานวิจัยเด่นเรื่อง “ชันโรง” ซึ่งเป็นแมลงผสมเกสรที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศและการเกษตร มาจัดแสดงในนิทรรศการประเด็น “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับห่วงโซ่คุณค่าชันโรงในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ที่บูธนิทรรศการ AL2 มหาวิทยาลัยทักษิณ พร้อมกิจกรรม Workshop และเวทีเสวนา เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้และต่อยอดองค์ความรู้สู่ผู้สนใจทั่วประเทศตั้งแต่ชนิดของชันโรง รังเลี้ยง อาหาร และผลิตภัณฑ์จากชันโรง
“ชันโรง” แมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สำคัญและมีพลังต่อการขับเคลื่อนเกษตรนวัตกรรมภาคใต้ งานวิจัยชันโรงของมหาวิทยาลัยทักษิณมุ่งเน้นการเสริมสร้างห่วงโซ่คุณค่าของชันโรงในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง ได้แก่ จังหวัดพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช ตรัง และสตูล ซึ่งมีความเหมาะสมทั้งด้านภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ จุดเด่นของชันโรง ไม่เพียงเป็นแมลงผสมเกสรที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร แต่ผลิตภัณฑ์จากชันโรง เช่น น้ำผึ้ง พรอพอลิส และไขผึ้ง ยังสามารถต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ความงาม และอาหารเสริมที่มีมูลค่าสูง งานวิจัยจึงมุ่งเน้นการสร้างกลไกการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับชุมชน เพื่อยกระดับธุรกิจชุมชนชันโรงสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับท้องถิ่นและแข่งขันได้ในตลาดสากล
นอกจากนิทรรศการ มหาวิทยาลัยทักษิณยังร่วมจัดกิจกรรมพิเศษในเวทีวิชาการ อาทิ การแสดงพื้นบ้าน “วิถีคนบกกินไข่เลี้ยงเป็ด” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อวรรณ โภชนาธาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ การนำเสนอผลงานวิจัย “การพัฒนานวัตกรรมยางสำหรับการแพทย์แบบองค์รวม” โดย อาจารย์ ดร.วีรวุฒิ แนบเพชร คณะวิศวกรรมศาสตร์ และในช่วง Twilight Program ได้มีการจัดเสวนา “Sustainable Rice, Sustainable Life: ข้าวดี...ชีวิตดี” โดย ผศ.ดร.นันทิยา พนมจันทร์ คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน และคณะทีมวิจัย
การเข้าร่วมในมหกรรมวิจัยระดับชาตินี้ สะท้อนถึงบทบาทเชิงรุกของมหาวิทยาลัยทักษิณในการสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน เสริมเศรษฐกิจฐานราก และส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างสมดุล โดยเชื่อมโยงศาสตร์หลากหลายสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างแท้จริง
................
ข่าว : งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยทักษิณ