มหาวิทยาลัยทักษิณทุ่มงบกว่า 75 ล้านบาท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล พร้อมก้าวสู่ “มหาวิทยาลัยดิจิทัล”เต็มรูปแบบ เพิ่มประสิทธิภาพระบบสารสนเทศ รองรับการใช้งานของนิสิต และบุคลากร สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ครอบคลุมทั้งสองวิทยาเขต เสริมการบริหารจัดการ การเรียนการสอน การวิจัย และบริการชุมชนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นกลไก ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก หวังเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตและองค์ความรู้ตอบโจทย์สังคม สร้างระบบการศึกษาแห่งอนาคต เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณกำลังขับเคลื่อนสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยดิจิทัล” (Digital University) อย่างเต็มรูปแบบ ตามนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในทุกมิติของมหาวิทยาลัย ทั้งด้านการบริหารจัดการ การเรียนการสอน ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ด้วยการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนดิจิทัล เช่น การเรียนแบบ Hybrid Learning และการส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ การวางระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ทั้งด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และระบบ Cloud เพื่อรองรับการทำงานแบบ Digital University
- รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ -
ด้าน อาจารย์ ดร. คณิดา สินใหม ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรการเรียนรู้และเทคโนโลยีดิจิทัล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณตระหนักถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีในโลกอนาคต เราไม่เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ แต่ยังเน้นการสร้าง “วัฒนธรรมดิจิทัล (digital workplace culture)” ให้เกิดขึ้นในทุกมิติของการทำงาน เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตและองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์สังคมยุคใหม่อย่างแท้จริง“มหาวิทยาลัยทักษิณเห็นความสำคัญและกำลังพัฒนาทักษะดิจิทัลให้บุคลากรและนิสิต ผ่านโครงการอบรมและกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ในรูปแบบต่าง ๆ ปลูกฝังการใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ (Data-Driven Management) เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการบริหารจัดการ รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา อื่น ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมและพัฒนาระบบนิเวศทางการศึกษาแบบดิจิทัลร่วมกันด้วย” อาจารย์ ดร. คณิดา สินใหม กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยทุ่มงบกว่า 75 ล้านบาท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของมหาวิทยาลัยทั้งวิทยาเขตสงลา และวิทยาเขตพัทลุง โดยเฉพาะการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์กระจายสัญญาน ระบบเครือข่ายไร้สาย ระบบรักษาความปลอดภัยเครือข่าย และ Datacenter & Covergence เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสารสนเทศให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหลาย ๆ หน่วยงาน เพื่อรองรับการใช้งานของนิสิต อาจารย์ และบุคลากร ให้สามารถเชื่อมการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา
“การขับเคลื่อนสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลของมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นก้าวสำคัญในการสร้างระบบการศึกษาแห่งอนาคตที่มีความยืดหยุ่น ทันสมัย และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่าง เท่าเทียม” อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าว
อาจารย์ ดร. คณิดา สินใหม กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและการตัดสินใจ การพัฒนานวัตกรรมบริการในรูปแบบใหม่ เป็นความท้าทายหนึ่งของสถาบันทรัพยากรการเรียนรู้และเทคโนโลยีดิจิทัล เราจึงได้ฝึกอบรมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านทักษะดิจิทัลให้พร้อมอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยทักษิณให้ทันต่อการพัฒนาของโลก และรองรับการใช้งานของนิสิต และบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- อาจารย์ ดร. คณิดา สินใหม ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรการเรียนรู้และเทคโนโลยีดิจิทัล -
“ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในเวทีนานาชาติ ด้วยการได้รับใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ ISO/IEC 27001:2022 จากองค์กร BSI (British Standards Institution) ซึ่งเป็นการยืนยันถึงมาตรฐานและการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยสารสนเทศระดับสูงการรับรองดังกล่าวครอบคลุมถึงการดำเนินการด้านระบบเซิร์ฟเวอร์ เครือข่าย เครื่องเสมือน (Virtual Machine) และศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลหลัก รวมถึงศูนย์สำรองข้อมูลในกรณีฉุกเฉิน เน้นการจัดการความปลอดภัยของข้อมูลและความลับในองค์กร โดยให้กรอบการทำงานและแนวทางสำหรับการปรับปรุงความปลอดภัยของข้อมูล ใช้หลักการประเมินความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยงเพื่อป้องกัน ควบคุม และลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลและความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ โดยทั้งหมดได้รับการตรวจสอบว่าปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างครบถ้วน ซึ่งได้รับการรับรองตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2568 และมีผลจนถึงวันที่ 16 มีนาคม 2571” อาจารย์ ดร. คณิดา สินใหม กล่าว
“การมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital University) ที่เชื่อมโยงทุกมิติในองค์กร ขจัดความซํ้าซ้อนของข้อมูลและกระบวนการทํางาน ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากที่จะทำได้ นี่เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยทักษิณสามารถดำเนินการได้” รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าว
................................................................................
#งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยทักษิณ
วรณัน เอกหิรัณยราษฎร์ : ข่าว / ปรเมศวร์ กาแก้ว : ภาพ