มหาวิทยาลัยทักษิณเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sustainable University Network of Thailand : SUN Thailand) สัญจร ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 เน้นย้ำบทบาทสถาบันอุดมศึกษาในการขับเคลื่อน Net Zero Campus และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน พร้อมนำคณะผู้บริหารเยี่ยมชมวิถี “เขา ป่า นา เล” และต้นแบบการพัฒนานวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ จังหวัดพัทลุง
ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2568 มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) สัญจร ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 โดยมีผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทยเกือบ 30 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วม เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ในระดับอุดมศึกษา โดยเน้นประเด็นการดำเนินงานสู่ Net Zero Campus และการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้กับบริบทพื้นที่
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งกล่าวเปิดการประชุมโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา เลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานและขับเคลื่อนเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของบทบาทมหาวิทยาลัยในการเป็นผู้นำและสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนของประเทศ
ในการนี้รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ ได้เสนอแนวนโยบายและประเด็นเชิงข้อเสนอที่สำคัญเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้:
1) บทบาทของเครือข่าย SUN Thailand สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกกลางในการรวบรวมองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และผลักดันการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งขับเคลื่อนให้เกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายสาธารณะในระดับประเทศ
2) มหาวิทยาลัยทักษิณในฐานะมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ได้ดำเนินงานเชิงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการวิจัยและปฏิบัติการร่วมกับชุมชน นำไปสู่การสร้าง “พื้นที่นวัตกรรมสังคม” ที่ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง การสร้างนวัตกรรมทางสังคม และความเข้มแข็งของชุมชน มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคสำคัญในการสนับสนุน ผลักดัน และขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาจากฐานราก หรือ “SDGs from the below” อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงกับการกำหนดนโยบายในระดับจังหวัด และเป็นต้นแบบในการสะท้อนแนวคิดความยั่งยืนจากฐานรากของชุมชนสู่การพัฒนาระดับพื้นที่อย่างแท้จริง
3) การเป็นต้นแบบของความยั่งยืนในระดับสถาบัน เมื่อกล่าวถึง "ความยั่งยืน" มหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรต้นแบบของสังคม ควรแสดงบทบาทในการเป็น "พื้นที่เรียนรู้แห่งการเปลี่ยนแปลง" ที่สะท้อน Sustainable Development Lifestyle หรือ "วิถีชีวิตแห่งความยั่งยืน" อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการบริหารจัดการภายใน การจัดการสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนการมีส่วนร่วมกับสังคมในวงกว้าง
ทั้งนี้การประชุมยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมฐานการเรียนรู้มิติความยั่งยืนที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการมีชีวิต SDGs 17 ด้าน, การจัดการขยะสู่ความยั่งยืน และการต่อยอดสู่ความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ และการบรรยายพิเศษจาก ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน ในหัวข้อ “โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Campus)” ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ คุณปกรณ์ สุทธิวารี ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย) บริษัท นครหลวงคอนกรีต จำกัด บรรยายในหัวข้อ "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมศึกษาดูงานและสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนที่เป็นต้นแบบด้านความยั่งยืน โดยคณะผู้เข้าร่วมได้เยี่ยมชม “วิถีชีวิตชุมชนทะเลน้อย มรดกทางการเกษตรโลก” สัมผัสความงดงามของธรรมชาติและวิถีชีวิตพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ ศูนย์หัตถกรรมกระจูดวรรณี ณ กระจูดวรรณีโฮมสเตย์ เพื่อชมการสาธิตการสานกระจูดและผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สร้างรายได้และความยั่งยืนให้กับคนในท้องถิ่น ปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชน "ศรีนาคาโมเดล" ซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จจากโครงการการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งนำมาจัดแสดง ณ “ในดงบอนคาเฟ่” อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง คาเฟ่เพื่อชุมชนยั่งยืน ซึ่งเป็นบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยท่ามกลางธรรมชาติที่เขียวขจี ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการสร้างเศรษฐกิจชุมชนอย่างสมดุล และยั่งยืน
การประชุมสมาชิกเครือข่าย SUN Thailand ครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และสร้าง“พลังร่วม” ของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมองค์กร โดยทำหน้าที่ทั้งเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ เป็นเวทีสื่อสารเชิงนโยบาย และเป็นกลไกสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของมหาวิทยาลัยไปสู่สถาบันการศึกษาที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจอย่างสมดุล
...............................
ข่าว : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ
ภาพ : WeTSU Team