โรคไอกรน (whooping cough/ pertussis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย (Bordetella pertussis - บอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส) ในระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ และเกิดอาการไอต่อเนื่องติดๆ กันเป็นชุด จนหายใจไม่ทัน อาการจะรุนแรงมากในทารกและเด็กเล็กจน อาจมีอาการแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคไอกรนเป็นโรคมีพบมาหลายร้อยปีแล้ว ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ มีบันทึกไว้ย้อนไปได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1578 ที่กรุงปารีส และนักวิทยาศาสตร์สามารถแยกเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคได้เมื่อปี ค.ศ. 1906 และเริ่มมีวัคซีนใช้ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1914
ประเทศไทยให้วัคซีนป้องกันโรคไอกรนฟรีกับเด็กไทยทุกคน โดยการฉีดวัคซีนเข็มเดียวป้องกันได้ 3 โรค คือ คอตีบ (diphtheria) ไอกรน (pertussis) และ บาดทะยัก (tetanus) ที่รู้จักกันในชื่อ วัคซีน DTP โดยให้ตอนเด็กอายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 1 ปี 6 เดือน และ 4 ปี
สาเหตุการแพร่ระบาด
ไอกรนเป็นโรคติดเชื้อในมนุษย์เท่านั้น ติดต่อผ่านทางการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ละอองฝอย น้ำมูก น้ำลาย จากการไอหรือจามของผู้ป่วย จากนโยบายการให้วัคซีนทำให้ในประเทศไทยพบผู้ป่วยจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ยังพบได้ในพื้นที่ที่ฉีดวัคซีนไม่ครอบคลุม คือประชากรได้รับวัคซีนน้อยกว่าร้อยละ 90 โดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศ จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และตรัง
อย่างไรก็ตามระดับภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป จึงแนะนำให้ฉีดกระตุ้นทุกๆ 10 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย ผู้ที่มีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคไอกรน และผู้สูงอายุ จากข่าวการระบาดของโรคไอกรนอาจจะเกิดจากการที่ไม่ได้รับวัคซีน ฉีดวัคซีนไม่ครบโดส ฉีดวัคซีนไม่ครอบคลุมประชากรในพื้นที่ และ/หรือระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลงก็เป็นไปได้
แนวทางการป้องกัน
1. พาบุตรหลาน (ทารก/เด็กเล็ก) ไปรับวัคซีน เพราะทารกและเด็กเล็กเป็นกลุ่มที่เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง เสี่ยงต่อการเสียชีวิต
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสทารกและเด็กเล็กๆ ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือยังได้วัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม
3. ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง เช่น สัมผัสกับผู้ป่วย มีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคไอกรน ฯลฯ
4. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ ควรฉีดวัคซีน เพื่อให้ภูมิคุ้มกันจากแม่ไปสู่ทารกในครรภ์
5. สวมหน้ากากอนามัย ปิดปากปิดจมูก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ต้องสงสัย
6. สังเกตอาการ ถ้ามีอาการที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีความเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยให้รีบไปพบแพทย์
.............................................
เขียนและเรียบเรียงบทความโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยสิทธิ์ นิยะสม
อาจารย์ประจำสาขาชีววิทยา
สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ
อ้างอิง
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เข้าถึงได้จาก https://www.pidst.or.th/
#ไอกรน #whooping cough #TSUNews #สื่อสารสาธารณะ #knowledgeSharing #คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล #มหาวิทยาลัยทักษิณ #โรคในเด็กเล็ก